
หลังผู้บริโภคร้องเรียนพบสถานที่ผลิตกาแฟปลอม ย่านนครปฐม อย. ลุยร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ.รุดเข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตทันที พบกาแฟสำเร็จรูป มีฉลากแสดงเลขสารบบอาหารของสถานที่ผลิต คนละแห่งกับสถานที่ผลิตจริง จึงทำการยึดของกลาง และเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนผู้ประกอบการ ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ย้ำ! การขออนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร หรือขออนุญาต จดแจ้งรายละเอียดอาหารกับ อย. ขั้นตอนไม่ได้ยุ่งยาก หากเอกสารครบถ้วนและถูกต้อง ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพราะหากตรวจพบกระทำผิดกฎหมาย จะถูกดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด ขอให้มีคุณธรรมและจริยธรรมในการผลิต/จำหน่ายอาหารที่ได้คุณภาพมาตรฐานแก่ผู้บริโภค
เจ้าหน้าที่ อย. ภายใต้การอำนวยการของ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำทีมโดย พล.ต.ต.นรศักดิ์ เหมนิธิ ผบก. ปคบ., พ.ต.อ.ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม รอง ผบก. ปคบ. , พ.ต.อ.วุฒิชาติ เลื่อนสุคันธ์ ผกก.4 บก.ปคบ., และ พ.ต.ท.นิทัศน์ จิตตวิทยานุกูล รอง ผกก. 4 บก.ปคบ. เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า จากนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เร่งปราบปรามผู้กระทำผิดลักลอบผลิตและขายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี นั้น โดย อย. ขานรับนโยบายดังกล่าว และร่วมมือกับตำรวจ บก.ปคบ. ในการตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 อย. และตำรวจ บก.ปคบ. นำหมายค้นของศาลจังหวัดนครปฐม ที่ ค.945/2557 เข้าไปตรวจสอบ สถานที่ผลิตอาหาร เลขที่ 77/20 หมู่ 7 ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตอาหารที่ได้รับใบอนุญาตผลิตอาหารถูกต้อง แต่ขณะตรวจพบกาแฟสำเร็จรูปตราซุปเปอร์พิงค์ แสดงเลขสารบบ อย. 24-2-00556-2-0004 ซึ่งผลิตจากสถานที่ผลิตอาหารดังกล่าว ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบฐานข้อมูลของเลขสารบบดังกล่าวแล้วพบว่า เป็นเลขสารบบอาหารที่แสดงสถานที่ผลิตอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งไม่ตรงกับสถานที่ผลิตจริง
เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวทั้งหมดจำนวนกว่า 5 หมื่นซอง และฟอยล์สำหรับบรรจุจำนวนมาก มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท และส่งผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำหรับการดำเนินคดี ในเบื้องต้นแจ้งข้อกล่าวหา ดังนี้
1. ผลิตและจำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
2. ผลิตและจำหน่ายอาหารปลอม เนื่องจาก แสดงฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่อง ลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่ผลิต มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า อย. ขอให้ผู้ประกอบการอย่าได้ลักลอบผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งการขออนุญาตรับเลขสารบบอาหารกับ อย. ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก หากมีเอกสารครบถ้วนและถูกต้องตามประกาศฯ ก็จะได้รับอนุญาตอย่างรวดเร็วและโปร่งใส ส่วนผู้บริโภค ขอให้ระมัดระวังในการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปขอให้ตรวจสอบฉลากให้ละเอียดว่ามีข้อความครบถ้วนหรือไม่ และอย่าหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อว่าบริโภคกาแฟแล้วสามารถลดน้ำหนักได้ และขายในราคาถูก เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงมีความเสี่ยงต่อสารอันตรายได้ ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นการผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย แจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดที่พบปัญหานั้น หรือที่สายด่วน บก.ปคบ. โทร.1135