จากกรณีที่เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม มีความกังวลและห่วงใยในผลกระทบต่อความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน ที่อาจจะเกิดขึ้นจากสาระสำคัญใน (ร่าง) พ.ร.บ. ยา ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแล้วเสร็จจึงมีการเสนอปัญหาข้อบกพร่องของ (ร่าง) พ.ร.บ. ยา ดังกล่าว จำนวน 8 ประเด็นมายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเข้าสู่กระบวนการทบทวนและปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ. ยา ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแล้วเสร็จ ก่อนที่จะเสนอกระทรวงสาธารณสุขในการให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในขั้นตอนต่อไป
วันนี้ ( 22 ต.ค. 57) ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ชั้น 1 ตึก อย. ภก. รศ. (พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม และ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมหารือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผู้แทนเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ต่อกรณีร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 13 , 14 , 21 และ 22 ตุลาคม 2557 ซึ่งที่ประชุมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความกระจ่างในเจตนารมณ์ในบทบัญญัติต่าง ๆ และผลกระทบด้านความปลอดภัยในการใช้ยา การคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงหลักการในการเข้าถึงยาและการพัฒนาระบบยาในระดับสากล พบว่า
1. บทบัญญัติใน ร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแล้วเสร็จ มีเนื้อหาบางประการที่ไม่สอดคล้องกับข้อเสนอของเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม จำนวน 3 ประเด็น คือ การจัดประเภทยาตามนิยามในมาตรา 4 การยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นไม่ต้องขออนุญาต ผลิต ขาย หรือ นำเข้า ตามมาตรา 24 , และ 60 การยกเว้น ให้ผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญจัดการควบคุม ผลิต ขาย นำเข้ายา ตามมาตรา 26 , 62 และ 89
2. สำหรับอีก 5 ประเด็น ของบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแล้วเสร็จ มีเนื้อหาสอดคล้องกับข้อเสนอของเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม และได้มีการพิจารณาปรับปรุงบทบัญญัติให้มีความชัดเจน รัดกุม มากยิ่งขึ้นแล้ว
3. ส่วนประเด็นข้อเสนอปลีกย่อยอื่น ๆ นอกเหนือจาก 8 ประเด็นหลัก ได้มีความเห็นชอบเบื้องต้นร่วมกันแล้ว
ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไป อย. จะนำบทบัญญัติที่ได้รับการแก้ไขปรับปรุงเข้าสู่ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ตามกระบวนการของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
อนึ่ง เพื่อลดปัญหาที่อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเนื้อหาของ (ร่าง) พ.ร.บ. ยา ฉบับนี้ ในกลุ่มประชาชนและ ผู้ประกอบวิชาชีพ อย. และผู้แทนเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม จะร่วมมือกันในการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เพื่อให้การแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ. ยา ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแล้วเสร็จ เป็นไปตามเจตนารมณ์ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และการเข้าถึงยาของประชาชนตามหลักสากล