อย. เปิดรับฟังความคิดเห็น กรณียาพาราเซตามอล
29 ตุลาคม 2557

อย. ย้ำ ยาพาราเซตามอลยังปลอดภัย สามารถบริโภคได้เอง แต่ต้องระวังการกินยาซ้ำ                       หรือกินยา เกินขนาดโดยไม่รู้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดพิษร้ายแรงจนตับวายเสียชีวิตได้ อย. จึงเร่ง  ออกมาตรการป้องกัน โดยออกคำสั่งตามกฎหมายให้ผู้ผลิตแก้ไขฉลากและเอกสารกำกับยา ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนให้ได้ข้อสรุป ก่อนบังคับใช้ต่อไป

          ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยว่ายาพาราเซตามอลเป็นยาที่ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรกสำหรับบรรเทาอาการปวดลดไข้                    เป็นยาที่ได้ผลดี ปลอดภัย ทั้งในผู้ใหญ่ เด็ก ผู้ป่วยโรคไต โรคแผลในกระเพาะอาหาร ไข้หวัดใหญ่ ตลอดจนผู้ป่วย หอบหืดซึ่งอาจแพ้ยาในกลุ่มแอสไพรินได้ แต่ในปัจจุบันพบรายงานการเกิดพิษจากยาพาราเซตามอล โดยเฉพาะพิษต่อตับ จากการได้รับยาเกินขนาดโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญคือ การกินยาซ้ำซ้อน การกินยาเกินขนาดไม่เหมาะสมกับน้ำหนักตัว หรือเกินขนาดสูงสุดที่ควรได้รับในแต่ละวัน จึงเร่งออกมาตรการเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

          การกินยาซ้ำซ้อนนั้น เป็นเพราะมียาที่นิยมใช้ทั่วไปหลายชนิด เช่น แก้ไข้หวัด ไอ แก้ปวด              คลายกล้ามเนื้อ มีตัวยาพาราเซตามอลผสมอยู่ด้วย ถ้าใช้ยาโดยดูแต่ยี่ห้อไม่สังเกตชื่อตัวยาจะทำให้กินยาซ้ำเกินขนาดได้โดยไม่รู้ตัว  เพื่อป้องกันปัญหานี้ อย.จึงออกมาตรการแก้ไขฉลากยา โดยเพิ่มข้อความ                 "ยานี้มีพาราเซตามอล" ตามด้วยความแรงของยา ไว้ให้เห็นเด่นชัด และไม่ให้ใช้ชื่ออื่นๆ                             ของยาพาราเซตามอล เช่น อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) จึงขอให้ประชาชนอ่านฉลากยาให้ละเอียด และสอบถามเภสัชกรให้แน่ใจว่ายาทุกชนิดที่ใช้อยู่ ไม่มีตัวยาซ้ำซ้อนกัน

          ในด้านขนาดยาที่แนะนำ อย. ได้ออกมาตรการแก้ไขขนาดยาที่ระบุบนฉลากของยาเม็ดและยาน้ำพาราเซตามอลทุกชนิด โดยให้แนะนำขนาดยาตามน้ำหนักตัวของแต่ละคน ขนาดที่แนะนำบนฉลาก ใน

ผู้ใหญ่และเด็กอยู่ในช่วง 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพราะน้ำหนักตัวเฉลี่ยของคนไทยต่ำกว่าชาวตะวันตกมาก ประชาชนควรเลือกใช้ยาพาราเซตามอลขนาด 325 มิลลิกรัม แทนขนาด 500 มิลลิกรัม ซึ่งนิยมจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย เพราะปลอดภัยในการใช้มากกว่า การใช้ยาพาราเซตามอลขนาด  500 มิลลิกรัม ในขนาดครั้งละ 2 เม็ด นั้นจะเหมาะสมกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 66.7 กิโลกรัมขึ้นไป โดยกินได้ไม่เกินวันละ 4 กรัมหรือ 8 เม็ด เท่านั้น หากกินยาแล้วอาการปวดในผู้ใหญ่ไม่บรรเทาใน 10 วัน ให้ไปพบแพทย์เนื่องจากอาจเป็นอาการของโรคที่ร้ายแรงได้ สำหรับผู้ที่กินยาหลายชนิด ดื่มสุราเป็นประจำ เป็นโรคตับหรือโรคไต จะมีขนาดยาที่เหมาะสมแตกต่างจากคนทั่วไป จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาพาราเซตามอล หากจำเป็นต้องใช้ยาเอง ให้ใช้ยาเท่าที่จำเป็น ในช่วงสั้นๆ ไม่ใช้ติดต่อกันการใช้พาราเซตามอลในเด็กต้องระวัง โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน ให้ปรึกษาแพทย์และระมัดระวังการเลือกซื้อยาเพราะแต่ละยี่ห้อมีขนาดยาต่อ 1 ช้อนชาไม่เท่ากัน ที่มีจำหน่ายโดยทั่วไป จะมีพาราเซตามอล 120, 125, 160 หรือ 250 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา (1 ช้อนชาเท่ากับ 5 มิลลิลิตร หรือ 5 ซีซี) จึงควรอ่านฉลากยาให้แน่ใจก่อนว่าใน 1 ช้อนชามีพาราเซตามอลกี่มิลลิกรัมก่อนป้อนยาให้กับเด็กและต้องระวังเป็นพิเศษกับยาพาราเซตามมอลแบบหยด ซึ่งเข้มข้นถึง 100 มิลลิกรัม ต่อยา 1 ซีซี ก่อนการใช้ยาแบบหยดกับเด็กควรตวงยาโดยใช้กระบอกฉีดยา (ไซริงค์) เสมอ ทั้งนี้ไม่ควรกินติดต่อกันนาน หากกินยาแล้วอาการของไข้ไม่ลดภายใน 3 วัน หรืออาการปวดของเด็กไม่บรรเทาภายใน 5 วัน ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้ชัดเจน

          สำหรับข้อมูลยาที่จำเป็นนั้นนอกจากอ่านจากฉลากยาแล้ว อย. ได้ออกมาตรการให้ผู้ผลิตจัดทำเอกสารกำกับยาฉบับประชาชนที่อ่านเข้าใจได้ง่าย แจกไปพร้อมกับบรรจุภัณฑ์ของยาพาราเซตามอลอีกด้วย  การแก้ไขฉลากและเอกสารกำกับยาเป็นมาตรการระยะสั้น ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งทางเว็บไซท์ การออกหนังสือ และการจัดประชุมปรึกษาหารือ แล้วนำมาปรับปรุงก่อนเสนอคณะกรรมการยาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาออกเป็นกฎหมายในระยะยาว อย. จะเร่งทบทวนทะเบียนตำรับยาที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป

          รองเลขาธิการ ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมหารือรับฟังความคิดเห็น เรื่องยาพาราเซตามอล  จะจัดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 เพื่อหาขอสรุปและข้อเสนอต่อมาตรการของ อย. หากเรื่องยาพาราเซตามอล    นี้ผ่านการพิจารณา จะมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา    หากต้องการข้อมูลเรื่องยาพาราเซตามอลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่http://drug.fda.moph.go.th/zone_admin/admin56.asp

แท็กที่เกี่ยวข้อง
พาราเซตามอล
ยาพาราเซตามอล
ประพนธ์ อางตระกูล
paracetamol
acetaminophen