จากกรณีข้อร้องเรียนเรื่องสาหร่าย ซึ่งเป็นสาหร่ายอบแห้งที่นำไปปรุงอาหาร อย.เผยเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่สะเรียงได้ติดตามตรวจสอบอย่างเร่งด่วนแล้ว ขณะนี้ไม่พบการจำหน่ายสาหร่ายยี่ห้อที่มีปัญหาในพื้นที่แต่อย่างใด แต่จะได้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดถึงแหล่งต้นทางต่อไป พร้อมแนะวิธีการเลือกซื้อสาหร่ายให้ปลอดภัย ต้องมีฉลากภาษาไทยและชื่อที่ตั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้า รวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆ
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากกรณีมีการร้องเรียนเรื่องสาหร่ายตราสากล ณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าเมื่อนำไปประกอบอาหารแล้วสาหร่ายมีความผิดปกติ เหนียว คล้ายกับพลาสติกนั้น เบื้องต้นทางสำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่สะเรียงได้ดำเนินการตรวจสอบสาหร่ายดังกล่าว โดยการนำตัวอย่างที่มีการร้องเรียนตรวจสอบโดยการส่องกล้องจุลทรรศน์ พบว่าสามารถเห็นเซลล์สาหร่ายได้อย่างชัดเจน และพบว่าฉลากไม่ถูกต้อง ไม่มีชื่อผู้ผลิต และสถานที่ผลิต และเมื่อตรวจสอบไปยังสถานที่จำหน่ายก็ไม่พบสินค้าแล้ว เนื่องจากผู้จำหน่ายทราบข่าวจึงได้ส่งคืนต้นทางที่รับมาจำหน่ายที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะได้มีการตรวจสอบต่อไป และเมื่อตรวจสอบร้านอื่น ๆ ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงก็ไม่พบการจำหน่ายสาหร่ายยี่ห้อดังกล่าวแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ได้ขอความร่วมมือจากร้านค้าให้ระมัดระวังการนำสินค้ามาจำหน่าย โดยขอให้ตรวจสอบฉลาก ทุกผลิตภัณฑ์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ต้องอยู่ในสภาพดี พร้อมกับแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทุกอำเภอตรวจสอบเฝ้าระวัง หากพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด ในด้านของ อย. ได้มีการเฝ้าระวังโดยเก็บตัวอย่างสาหร่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพความปลอดภัยทุกปี โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2555-2557 ได้สุ่มเก็บตัวอย่างปีละ 50 ตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์หาโลหะหนัก ได้แก่ สารหนู ตะกั่ว ปรอท ผลตรวจสอบพบว่า มีคุณภาพมาตรฐานเป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อย. ได้ตรวจสอบสถานที่จำหน่ายสาหร่ายที่ตลาดห้วยขวางและเยาวราช ไม่พบสาหร่ายที่เป็นข่าวแต่พบยี่ห้ออื่นฉลากแสดงภาษาจีน จึงได้เก็บตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์ลักษณะของสาหร่ายว่ามีพลาสติกปลอมปนหรือไม่ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และตรวจหาโลหะหนักด้วยแล้ว รวมทั้งจะมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องต่อไป สำหรับข่าวเกี่ยวกับสาหร่ายปลอมปนถุงพลาสติกเคยปรากฏทางสื่อมาแล้วเมื่อปี 2552 ซึ่ง อย.ได้มีการตรวจสอบสาหร่ายดังกล่าว และไม่พบเป็นสาหร่ายปลอมแต่อย่างใด
ทั้งนี้ การเลือกซื้อสาหร่ายอบแห้งให้ปลอดภัยที่สำคัญ คือ ต้องมีฉลากภาษาไทย ระบุชื่ออาหาร ชื่อบริษัทผู้ผลิต/ผู้นำเข้า สถานที่ตั้ง ปริมาณสุทธิ วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ และเมื่อนำสาหร่ายไปแช่น้ำจะสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าว่าสีของสาหร่ายจะไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากเม็ดสีกระจายไม่เท่ากัน ส่วนขอบไม่เรียบ มีรอยหยัก เนื้อสัมผัสลื่น ไม่แข็งกระด้าง มีกลิ่นคาว และมีความยืดหยุ่น ซึ่งจะขึ้นกับแต่ละสายพันธุ์ของสาหร่าย
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า หาก อย.ตรวจพบสาหร่ายปลอมจะแจ้งให้ผู้บริโภคทราบทันที รวมทั้งเก็บผลิตภัณฑ์ออกจากท้องตลาด และระวังการนำเข้าโดยด่วน ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจ การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคของ อย. หากผู้บริโภคพบเห็นการนำเข้าหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สาหร่ายโดยไม่มีฉลากภาษาไทย หรือสงสัยว่าจะเป็นของปลอม สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียน ได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือ สายด่วน อย.1556 เพื่อจะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป