อย. ลุยร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรีและตำรวจ บก.ปคบ.บุกจับหมอเถื่อนที่สระบุรี หลังจาก สสจ. สระบุรี ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบการรักษาของ นายประเวศ อุ่นจันทร์ ที่ใช้วิธีพิสดารรักษาออกแนวไสยศาสตร์ และโฆษณาขายยาในราคาแพง อวดสรรพคุณยา สามารถรักษาทั้งโรคเบาหวาน โรคไต มะเร็ง หอบหืด ฯลฯ ตรวจพบผลิตภัณฑ์ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจำนวนมาก ยึดของกลางมูลค่าร่วม 10 ล้านบาท รวมทั้งแจ้งอีกหลายข้อหามีโทษทั้งจำและปรับ เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อการรักษาอาการป่วยที่ผิดวิธี และอย่าซื้อยาที่ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยาเด็ดขาด เพราะอาจได้รับยาที่ไม่ได้มาตรฐาน การผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจเกิดอันตรายมากกว่าการรักษาป้องกันโรคได้ ที่สำคัญ อย่าหลงเชื่อโฆษณาแสดงสรรพคุณยาว่ารักษาโรคร้ายได้สารพัดโรค ขอให้ไตร่ตรองก่อนว่าเป็นการโฆษณาที่หลอกลวงและไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
จากนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน) ในการสร้างความเข้มแข็งของระบบการติดตามเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายภายหลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด เจ้าหน้าที่ อย. ภายใต้การอำนวยการของ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และตำรวจ บก.ปคบ. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำทีมโดย พ.ต.อ.สมชาย ทองศรี รอง ผบก.ปคบ. รักษาราชการแทน ผบก. ปคบ. ปคบ. , พ.ต.อ.อังกูร คล้ายคลึง รอง ผบก.ปคบ. , พ.ต.อ. ไพฑูรย์ พูลสวัสดิ์ รักษาราชการแทน ผกก. 4 บก.ปคบ. , พ.ต.ท.นิทัศน์ จิตตวิทยานุกูล รอง ผกก. 4 บก. ปคบ., และ พ.ต.ท.นพดล ปิ่นพงศ์พันธ์ สารวัตรกองกำกับการ 4 บก.ปคบ. ตลอดจนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ตลอดจนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ร่วมกันแถลงข่าวว่า หลังจากมีผู้บริโภคร้องเรียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรีว่าไปรักษากับผู้ที่อ้างตนว่าเป็นหมอชื่อ นายประเวช อุ่นจันทร์ โดยให้ผู้ป่วยเคี้ยวหมากและสอบถามมีรสชาติอย่างไร แล้วจึงวินิจฉัยโรค คล้ายวิธีการทางไสยศาสตร์ และให้ผู้ป่วยซื้อผลิตภัณฑ์ยาหลายรายการ ค่ารักษาแต่ละครั้งหลายพันบาท ดังนั้น ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรีจึงประสานมายัง อย. ให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 อย. สนธิกำลัง ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ , ตำรวจ บก.ปคบ. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ได้นำหมายค้นศาลจังหวัดสระบุรี ที่ 323/2557 ลงวันที่ 26 พ.ย.2557 เข้าตรวจค้น บ้านอโรคยา เลขที่ 111 หมู่ที่ 1 ต.ดอนพุด อ.ดอนพุด จ.สระบุรี โดยทำการล่อซื้อผลิตภัณฑ์ พบ นายประเวช อุ่นจันทร์ แสดงตนเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองดูแลสถานที่ รักษาผู้ล่อซื้อโดยเจาะเลือดที่นิ้วเพื่อตรวจหาเบาหวาน หลังจากนั้นให้เคี้ยวหมาก สอบถามรสชาติและให้ดื่มน้ำ จึงจัดยาให้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นพบผลิตภัณฑ์ยาหลากหลายรายการจำนวนมากโฆษณารักษาโรคร้ายต่าง ๆ เช่น เบาหวาน มะเร็ง ไทรอยด์ ยาฟอกเลือด ต่อมลูกหมากโต หอบหืด เป็นต้น ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ยาผิดกฎหมายที่ตรวจพบและถูกยึด ได้แก่ ยารักษาเบาหวาน ยารักษามะเร็ง ยาแก้หอบหืด ยารักษาไทรอยด์ ยารักษาเก๊าท์ ยารักษาลูกหมากโต ยาฟอกเลือด ผลิตภัณฑ์ล้างไต ฯลฯ นอกจากนี้ยังยึดแผ่นพับโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา และแฟ้มส่งสินค้าให้กับลูกค้าทาง sms รวมมูลค่าของกลางกว่า 10 ล้านบาท พร้อมทั้งนำผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหาสารอันตรายต่อไป
ส่วนการดำเนินคดี ในเบื้องต้นได้แจ้งข้อหา ดังนี้
1. ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2. ขายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาขายยาโดยแสดงสรรพคุณ บำบัด บรรเทา รักษาโรคที่รัฐมนตรีประกาศห้ามโฆษณา มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
4. ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ขอเตือนประชาชน อย่าได้หลงเชื่อโฆษณาขายยาหรือการรักษาโรคร้ายแรงต่าง ๆ ด้วยวิธีทางไสยศาสตร์ เพราะนอกจากไม่ได้ผลแล้ว อาจทำให้เสียโอกาสในการได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งหากป่วยโรคใด ๆ ในระยะเริ่มแรก และไม่ได้รับการรักษาอาการที่ถูกต้องตามทางการแพทย์ เมื่อไปรักษาโดยวิธีอื่น อาจทำให้โรคนั้นรักษาไม่หาย และอาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายได้ที่สำคัญไม่ควรไปรับการรักษากับสถานที่ซึ่งไม่ใช่สถานพยาบาล และผู้รักษาไม่ได้จบแพทย์โดยตรงเด็ดขาดโดยเฉพาะอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างรักษาโรคสำคัญ เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน โรคตับ ไต อัมพฤกษ์ อัมพาตการรักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น ซึ่งเป็นการหลอกลวงประชาชนต้องเสียเงินจำนวนมาก เพื่อซื้อยาที่ไม่มีคุณภาพตามที่อ้าง ทั้งนี้ อย. จะดำเนินการตรวจสอบพร้อมเฝ้าระวังการลักลอบจำหน่ายยาและโฆษณาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในการดำเนินงานเชิงรุกของ อย. ที่จะเฝ้าระวังความปลอดภัยของผู้บริโภคในการใช้ยา หากพบแหล่งขายยาใดคาดว่าจะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พบยาต้องสงสัยและไม่ปลอดภัยในการใช้ หรือพบเห็นเว็บไซต์ที่มีการโฆษณาขายยาที่ผิดกฎหมาย ขอให้ร้องเรียนแจ้งมายังสายด่วน อย. 1556 หรือสายด่วน สบส. โทร. 02 1937999 หรือสายด่วน ปคบ.1135 หรือแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น ๆ ที่พบการกระทำผิดดังกล่าว เพื่อ อย. จะได้ร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดตามตรวจสอบจับกุมและลงโทษสถานหนักแก่ผู้กระทำผิดต่อไป