อย. ส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตเกลือเสริมไอโอดีน นำสื่อลงพื้นที่ จ.มหาสารคาม การันตีเกลือบริโภคที่ผลิตจ
2 ธันวาคม 2557

     อย. สนองนโยบายรัฐ มุ่งป้องกันและแก้ไขโรคขาดสารไอโอดีนในไทย ได้สนับสนุนเครื่องผสมเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนให้แก่ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางทั่วประเทศ จำนวน 100 เครื่อง       ก่อนการติดตั้งเครื่องผสม พบคุณภาพเกลือบริโภคผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 70.97 และไม่ผ่านมาตรฐาน ร้อยละ 29.03 หลังติดตั้งเครื่องผสมครบ 1 ปี พบผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 100 รุดพาสื่อลงพื้นที่  จ.มหาสารคาม การันตีเกลือบริโภคที่ผลิตจากเครื่องผสมมีคุณภาพร้อยเปอร์เซนต์ มุ่งหวังให้คนไทยทุกพื้นที่ ไม่ขาดสารไอโอดีน

     นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยอย่างยั่งยืน  เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยได้รับไอโอดีนอย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เดินหน้ามาตรการแก้ปัญหาคนไทยขาดสารไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากผลการเฝ้าระวังคุณภาพมาตรฐานของเกลือบริโภค ก่อนการติดตั้งเครื่องผสม จำนวน 93 ราย พบผ่านมาตรฐาน ร้อยละ 70.97 จาก 66 ตัวอย่าง และ ไม่ผ่านมาตรฐาน ร้อยละ 29.03 จาก 27 ตัวอย่าง ดังนั้น ในปี 2556 ที่ผ่านมา อย. จึงได้สนับสนุนเครื่องผสมเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนให้แก่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางทั่วประเทศ จำนวน 100 เครื่อง แบ่งเป็น เครื่องขนาดเล็ก 40 กิโลกรัม/ครั้ง จำนวน 70 เครื่อง และขนาดใหญ่ 150 กิโลกรัม/ครั้ง จำนวน 30 เครื่อง เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตเกลือบริโภคที่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กได้ปรับปรุงและพัฒนาการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลังจากการติดตั้งเครื่องผสม ผลการตรวจสอบคุณภาพเกลือ พบว่ามีปริมาณไอโอดีนผ่านมาตรฐาน ร้อยละ 87.78 จาก 79 ตัวอย่าง และไม่ผ่านมาตรฐาน ร้อยละ 12.22 จาก 11 ตัวอย่าง นอกจากนี้ จากการประเมินและติดตามการผลิตเกลือบริโภคร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายหลังได้รับการสนับสนุนเครื่องผสมเกลือบริโภคครบ 1 ปี จนสิ้นสุดวันประเมินเมื่อเดือนกันยายน 2557 พบว่าเกลือบริโภคมีไอโอดีน ผ่านมาตรฐาน ร้อยละ 100 จาก 92 ตัวอย่าง

     ดังนั้น เพื่อติดตามการผลิตเกลือเสริมไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง วันนี้ (28 พ.ย.57) อย. ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตเกลือเสริมไอโอดีน โดยใช้เครื่องผลิตเกลือเสริมไอโอดีน พร้อมกับการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์เกลือและการบรรจุ ณ สถานที่ดังกล่าวทั้ง 2 แห่งทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนเครื่องผสมเกลือบริโภคในจังหวัดมหาสารคาม อยู่ใน อ.บรบือ ,  อ.กันทรวิชัย และ อ.นาเชือก จำนวน 38 ราย แยกเป็น ผู้ประกอบการที่ได้รับเครื่องผสมขนาดเล็ก จำนวน 33 ราย และเครื่องผสมขนาดใหญ่ จำนวน 5 ราย

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า อย. ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการพัฒนาเครื่องผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนต้นแบบ     ซึ่งมีประสิทธิภาพในการผลิตเกลือบริโภคให้มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน อีกทั้งมีการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการเกี่ยวกับการผลิตเกลือบริโภคด้วยเครื่องผสม และการเฝ้าระวังคุณภาพเกลือในเขตพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ อย. ยังดำเนินการเฝ้าระวังเกลือบริโภคที่จำหน่าย  ในท้องตลาดอย่างเข้มข้น หากพบเกลือบริโภคไม่มีเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. ถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และหากตรวจพบเกลือบริโภคที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนได้บริโภคเกลือที่ได้มาตรฐาน และมีสารไอโอดีนด้วย อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินการของ อย. ในมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยลดปัญหาการขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยอย่างยั่งยืนและต่อเนื่องต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง
บุญชัย สมบูรณ์สุข
โรคขาดสารไอโอดีน
เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน