
อย. จัดประชุมสัมมนาผู้ประกอบการวัตถุอันตราย เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตามกฎหมาย วัตถุอันตราย ในวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการรับทราบนโยบายการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กฎระเบียบ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ระบบการให้บริการและข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยว่า ปัจจุบันการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ เช่น การที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ AEC ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระแสการบริโภคผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคที่มุ่งเน้นความสะดวกรวดเร็ว ความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม การแข่งขันทางการค้า ความจำเป็นทางการค้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้เร่งรัดการพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องมาตรฐานสากล และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ในฐานะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) เป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคด้านวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางการสาธารณสุข จึงมีนโยบายเร่งรัดการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐานและสมประโยชน์ โดยมีนโยบายเชิงรุกที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้นในวันนี้ (2 ธันวาคม 2557) อย. จึงได้มีการจัดประชุมสัมมนาผู้ประกอบการเรื่องแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายวัตถุอันตรายขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการวัตถุอันตรายมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ระบบการให้บริการและข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน
การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ประกอบด้วยการบรรยาย การอภิปรายตอบข้อซักถามโดยวิทยากรจากศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศ กลุ่มกฎหมายอาหารและยา และกลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย ผู้เข้าสัมมนาประกอบด้วยผู้ประกอบการผลิต นำเข้า ส่งออก และมีวัตถุอันตรายไว้ในครอบครอง เพื่อใช้รับจ้าง เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 450 คน
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. คาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดี ที่ อย. และผู้ประกอบการวัตถุอันตรายจะได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดการประสานความร่วมมือและสามารถพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านวัตถุอันตรายให้มีมาตรฐานระดับสากลต่อไป