อย. นำสื่อ ลงพื้นที่ จ.น่าน ศึกษาศูนย์เรียนรู้การผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน พัฒนาผู้ประกอบการให้ผลิ
23 มกราคม 2558

อย. เดินหน้า นำสื่อศึกษาศูนย์เรียนรู้การผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน ณ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน                        มุ่งพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพและกระบวนการผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนโดยใช้เครื่องผสมขนาด 150 กิโลกรัม/ครั้ง ผลพบว่าหลังการติดตั้งเครื่องผสม การกระจายตัวของไอโอดีนในเกลือมีความสม่ำเสมอมากกว่า         การคลุกผสมโดยใช้มือ การันตีเกลือบริโภคที่ผลิตจากเครื่องผสมมีคุณภาพมาตรฐาน 100% มุ่งหวังให้คนไทย           ทุกพื้นที่ไม่ขาดสารไอโอดีน

     นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยได้รับไอโอดีนอย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายโดย อย. ได้เดินหน้ามาตรการแก้ปัญหาคนไทยขาดสารไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2555 อย. ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กทั่วประเทศ ด้วยการสร้างศูนย์เรียนรู้การผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน  อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เป็นแห่งแรก และติดตั้งเครื่องผสมเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนต้นแบบขนาด 40 กิโลกรัม ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังคิดค้นขึ้น และจัดให้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่เข้มแข็ง โดย อย. ได้จัดอบรมการผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนด้วยเครื่องผสม พร้อมทั้งจัดทำระบบการควบคุมคุณภาพให้แก่ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้การผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน โดยใช้เครื่องผสมต้นแบบทำให้ได้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพและผ่านตามเกณฑ์ข้อกำหนดตามกฎหมาย และในปี 2556 อย. ได้สนับสนุนเครื่องผสมเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนให้แก่ศูนย์เรียนรู้ฯ จ.น่าน เป็นเครื่องผสมขนาด 150 กิโลกรัม/ครั้ง เนื่องจากพบว่าศูนย์เรียนรู้ฯ ดังกล่าว มีความจำเป็นต้องดำเนินการเพิ่มกำลังการผลิต   อีกทั้งได้ดำเนินการขยายพื้นที่เพื่อให้สามารถรองรับกำลังการผลิตของผู้ประกอบการได้ทั้งหมด ล่าสุดเมื่อปี 2557 อย. ร่วมกับ ดร.ไพโรจน์ หลวงพิทักษ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการสำรวจและประเมินความพร้อมก่อนการติดตั้งเครื่องผสม และโครงการติดตามและประเมินประสิทธิภาพการผลิตเกลือบริโภค  หลังจากติดตั้งเครื่องผสม รวมทั้งโครงการประเมินและติดตามการผลิตเกลือบริโภคภายหลังได้รับการสนับสนุนเครื่องผสมเกลือบริโภค 1 ปี โดยได้ตรวจสอบคุณภาพเกลือบริโภค ณ ศูนย์เรียนรู้ฯ จ.น่าน ก่อนการติดตั้งเครื่องผสม (คลุกผสมด้วยมือ) พบว่ามีการกระจายตัวของไอโอดีน (%CV) เป็น 30.10 ซึ่งถือว่ามีการกระจายตัวของไอโอดีนที่ไม่สม่ำเสมอและทั่วถึง หลังการติดตั้งเครื่องผสมครบ 1 ปี พบว่ามีการกระจายตัวของไอโอดีน (%CV) เป็น 5.17 ซึ่งถือว่ามีการกระจายตัวของไอโอดีนได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น และมีปริมาณไอโอดีนตามที่กฎหมายกำหนด

          ดังนั้น เพื่อติดตามการผลิตเกลือเสริมไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง วันนี้ (23 ม.ค.58) อย. ได้นำสื่อมวลชน ลงพื้นที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้การผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน โดยใช้เครื่องผลิตเกลือเสริมไอโอดีน พร้อมกับการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์เกลือและการบรรจุ ณ สถานที่ดังกล่าว เพื่อการันตีความปลอดภัยว่าเกลือที่ผลิตจากสถานที่ดังกล่าวได้คุณภาพและปลอดภัย และมีสารไอโอดีน ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนเครื่องผสมเกลือบริโภคในจังหวัดน่าน  มีจำนวน 2 ราย ได้แก่ นางอนงค์ เขื่อนเมือง (ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนต้มเกลือสินเธาว์) ณ ศูนย์เรียนรู้ฯ อ.บ่อเกลือ ได้รับเครื่องผสมขนาด 150 กิโลกรัม/ครั้ง และนายชัยสิทธิ์ ทวีพิริยะ อ.ปัว จ.น่าน ได้รับเครื่องผสมขนาด 40 กิโลกรัม/ครั้ง     

 

           นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ศูนย์เรียนรู้การผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน อ.บ่อเกลือ จ.น่าน จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานในการผลิตเกลือเสริมไอโอดีน เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเกลือ รวมทั้งพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพและประกันคุณภาพ  ที่สำคัญเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กให้สามารถผลิตเกลือบริโภคที่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม อย. จะไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน  คาดหวังให้ประชาชนในทุกพื้นที่ได้บริโภคเกลือเสริมไอโอดีนอย่างถ้วนหน้า โดยในปี 2558 นี้ จะมีการพัฒนาและจัดทำระบบประกันคุณภาพและระบบควบคุมคุณภาพ พร้อมทั้งจัดอบรมการจัดทำระบบบริหารคุณภาพให้แก่ผู้ประกอบการเกลือบริโภคและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ นอกจากนี้ อย. ยังดำเนินการเฝ้าระวังเกลือบริโภค ที่จำหน่ายในท้องตลาดอย่างเข้มข้น หากพบเกลือบริโภค  ไม่มีเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. จะถูกระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และหากตรวจพบเกลือบริโภคที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต จะถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินการของ อย. ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
บุญชัย สมบูรณ์สุข
การผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน