อย. เตือน! อย่าหลงเชื่อโฆษณาเครื่องสำอาง โอ้อวดเกินจริง
29 เมษายน 2558

อย. เตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาเครื่องสำอางที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง  ช่วยทำให้ผิวขาว ขยายขนาดทรวงอก ป้องกันผมหลุดร่วง ฯลฯ หากผู้บริโภคซื้อมาใช้อาจทำให้เสียเงินฟรี และเสี่ยงต่อการได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีการลักลอบใส่สารห้ามใช้ที่เป็นอันตราย

          ภก. ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวังโฆษณาของผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ปัจจุบันพบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงจำนวนมาก ผ่านทางสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สื่อวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และโดยเฉพาะ  สื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยพบว่ามีการอวดอ้างสรรพคุณของเครื่องสำอางบำรุงผิว เช่น  “... ช่วยให้ผิวขาวทันใจ หน้าใสทันตา เปลี่ยนจากผิวดำเป็นผิวขาว เห็นผล 100%” “... ช่วยปรับผิวขาวเร่งด่วนได้ใน 2 สัปดาห์ เห็นผลจริง พิสูจน์เลย” เครื่องสำอางบำรุงผิวทรวงอก เช่น   “... ใช้แล้วช่วยขยายทรวงอกให้ทรวงอกอวบอิ่ม” เครื่องสำอางบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ เช่น   “... ป้องกันผมหลุดร่วง กระตุ้นการสร้างเส้นผมใหม่” ซึ่งข้อความโฆษณาเหล่านี้เป็นข้อความที่โอ้อวด   เกินจริง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภค เนื่องจากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจุดประสงค์เพื่อใช้ทำความสะอาดและเพิ่มความสวยงามเท่านั้น ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย    ไม่สามารถทำให้สัดส่วนของรูปหน้าหรือรูปร่างเปลี่ยนแปลงได้ ไม่สามารถยับยั้งหรือเปลี่ยนแปลงการผลิตเม็ดสีเมลานิน จึงไม่สามารถทำให้สีผิวเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถลบริ้วรอยเหี่ยวย่น ไม่สามารถกระตุ้นให้ทรวงอกขยายขนาด หรือไม่สามารถทำให้ผมงอกขึ้นใหม่ได้แต่อย่างใด

       ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องสำอางมีการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522  โดยมีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนสื่อโฆษณาหรือ ผู้ประกอบธุรกิจโฆษณา จะมีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท  หากพบ การกระทำความผิดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 หรือครั้งต่อไป จะถูกส่งดำเนินคดีทางศาล

         รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าจึงมีช่องทาง ในการโฆษณาเครื่องสำอางเพิ่มขึ้น เช่น การขายเครื่องสำอางทางทีวีดาวเทียม และการขายเครื่องสำอางผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น ทางเฟสบุค อินสตาแกรม ทำให้ผู้ซื้อเข้าถึงได้ง่าย มีทั้งการโฆษณาที่อ้างว่าเป็นรีวิวของผู้ใช้ว่าใช้ได้ผลดี สามารถมีผลต่อโครงสร้างของร่างกายดังกล่าว ดังนั้นก่อนการตัดสินใจซื้อเครื่องสำอาง ขอให้ซื้อจากร้านที่มีหลักแหล่งเชื่อถือได้  และอ่านฉลากเครื่องสำอางให้ถี่ถ้วน สังเกตเลขที่ใบรับแจ้ง  10 หลัก และต้องมีชื่อที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าแสดงอยู่อย่างชัดเจน ถึงแม้จะเป็นเครื่องสำอางที่นำเข้ามาจากต่างประเทศก็ต้องมีฉลากภาษาไทย และผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก ของเครื่องสำอางได้ทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หรือที่ Oryor Smart Application ว่าเลขที่    ใบรับแจ้งที่ฉลากเครื่องสำอางตรงกับฐานข้อมูลของ อย. หรือไม่ อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ยิ่งถ้าข้อมูลบนฉลากไม่ครบถ้วนก็ไม่ควรซื้อ เพราะอาจทำให้เสียเงินฟรี และเสี่ยงต่อการได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน

          หากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการใช้เครื่องสำอาง หรือ พบการโฆษณาเครื่องสำอางที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะดำเนินการติดตาม และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง
โฆษณาโอ้อวดเกินจริง
ประพนธ์ อางตระกูล