อย.ร่วมกับเจ้าของเว็บไซต์ยอดนิยมทางโลกออนไลน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือ เพื่อแก้ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่ออินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ขับเคลื่อนสื่อสีขาว หวังผู้ประกอบการสื่อมีจริยธรรมและกำกับดูแลกันเอง ร่วมกลั่นกรองโฆษณา ร่วมดักจับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่โฆษณาโอ้อวดเกินจริง ไม่ให้ มีการเผยแพร่ส่งต่ออีกต่อไป ช่วยให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ที่ถูกต้อง มากขึ้น
ในวันนี้ (9 มิถุนายน 2558) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้จัดประชุมหารือ เพื่อแก้ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่ออินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย เป็นความร่วมมือ เพื่อแก้ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่ออินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย แลกเปลี่ยนข้อมูล ที่เป็นปัจจุบันและความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของสื่ออินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ระหว่างเจ้าของเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย สมาคมโฆษณาดิจิตอล(ประเทศไทย) เจ้าของเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. ปคบ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เจ้าหน้าที่แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) และเจ้าหน้าที่ อย. รวมประมาณ 80 คน
โดย นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ที่ทวีความรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อทัศนคติและการบริโภคของประชาชนที่หลงเชื่อโฆษณาโอ้อวดเกินจริงอันเป็นเหตุให้ เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยและเศรษฐกิจของประชาชน ในการกำกับดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2554 จึงบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม วิธีหนึ่งของ การจัดการปัญหาการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย คือการรับฟังความคิดเห็นและร่วมกันหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา การให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างทัศนคติที่ดี นอกจากนี้ ยังได้จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการ ปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งในร่างดังกล่าวได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ข้อหนึ่ง คือ การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพสื่อให้มีจริยธรรม ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย สมาคมโฆษณาดิจิตอล (ประเทศไทย) เจ้าของเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย โดยมีแนวทางร่วมกันในการกำกับดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางสื่ออินเทอร์เน็ต อย่างเข้มแข็ง จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมร่วมกันในวันนี้ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ และหวังให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อดูแลกันเอง โดยเป็นแกนหลักในการช่วยกลั่นกรองโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ให้มีการเผยแพร่ต่ออย่างผิด ๆ หรือแจ้งเบาะแส หรือบล็อกข้อความโฆษณาที่ไม่เหมาะสม
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีบทบาทหน้าที่หลักในการกำกับดูแลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่โอ้อวดเกินจริง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการติดตามตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างสม่ำเสมอทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม วิธีการที่มีความยั่งยืนที่จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง คือ “สื่อ” ซึ่งเป็นผู้นำข่าวสารไปสู่ผู้บริโภค ให้ความร่วมมือในการกลั่นกรองเนื้อหา ช่วยกำจัดสิ่งที่ไม่ดี หรือที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคออกไป โดย อย.พร้อมจะเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษา หากผู้ประกอบการสื่อไม่แน่ใจประเด็นการโฆษณา ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้ปัญหาการโฆษณาหลอกลวงลดลงได้ ในขณะเดียวกันข้อมูลที่ถูกต้องเป็นประโยชน์ เช่น บทความ หรือประกาศต่าง ๆ ทางสื่ออินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียก็สามารถช่วยส่งต่อให้แพร่หลายออกไป การร่วมดำเนินการในลักษณะนี้จะทำให้ประเทศไทยเกิดสังคมข่าวสารที่มีคุณภาพ ผู้บริโภคจะได้เสพสื่อที่มีประโยชน์ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
ทางด้าน นายสมเกียรติ ไชยศุภรากุล อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวเสริมว่า ในนามของผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อ ยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการกำกับดูแล ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อ โดยขณะนี้ได้มีการนำคู่มือจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเองมาใช้ในกลุ่มสมาชิก โดยคำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในการได้รับข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่เป็นธรรมและ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในยุคที่ข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลมาจากทุกทิศทาง อย่างไร้ขีดจำกัด
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นพบเห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงทางสื่อต่าง ๆ สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Oryor Smart Application หรือ สายด่วน กสทช. 1200 หรือ สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด