อย. เผยยาต้องห้าม 11 รายการ ห้ามนำเข้าญี่ปุ่นเด็ดขาด
12 กรกฎาคม 2558

           อย. เผยรายชื่อยาต้องห้าม 11 รายการ ห้ามนำเข้าประเทศญี่ปุ่นอย่างเด็ดขาด จัดเป็นกลุ่มยา บรรเทาอาการหวัดที่มีซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสมและยาแก้ท้องเสีย ซึ่งญี่ปุ่นไม่ให้นำเข้ายาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทไม่ว่าจะนำเข้าไปเพื่อรักษาตัว หรือใช้ทางการแพทย์ หากนำเข้าจะถูกยึดและดำเนินคดีได้  จึงขอแจ้งเตือนพร้อมข้อแนะนำ รวมทั้งศึกษารายละเอียดถึงข้อห้าม ข้อจำกัดของแต่ละประเทศให้ดี เพื่อที่จะได้ไม่ทำผิดต่อกฎหมายประเทศนั้น ๆ

          ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการส่งข่าวทาง line ว่ารัฐบาลญี่ปุ่น ห้ามนำยาที่เป็นกลุ่มเสี่ยง จำนวน 11 รายการ เข้าประเทศโดยเด็ดขาดหากนำเข้าอาจโดนดำเนินคดีตามกฎหมายนั้น จากการตรวจสอบพบว่ายาที่เป็นข่าวเป็นยาที่ใช้บำบัด บรรเทารักษาอาการเจ็บป่วยใน 2 กลุ่มอาการ คือ กลุ่มยาบรรเทาอาการหวัด ได้แก่ยาที่มีชื่อการค้าตามรายการที่ 1 – 10 เป็นยาที่มีตัวยาสำคัญ ในการใช้แก้ปวด ลดไข้ บรรเทาอาการไอ คัดจมูก แพ้อากาศ ลดน้ำมูก เป็นต้น โดยยาหลายรายการมีสาร ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) เป็นส่วนผสม ส่วนยาในลำดับที่ 11 ใช้สำหรับบรรเทาอาการท้องเสีย  มีสารสำคัญที่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ทั้งนี้ยาทั้ง 11 รายการ เป็นยาที่ไม่มีทะเบียนตำรับยา ในประเทศไทยแล้ว

          รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ฝากข้อแนะนำสำหรับผู้ที่จะต้องนำยาติดตัวเพื่อใช้เฉพาะตน เมื่อเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นว่าอย่าแกะยาออกจากแผงบรรจุยาที่มีชื่อยาระบุไว้ และปริมาณไม่ควรเกินการใช้ 30 วัน ในการรักษาตนเอง ส่วนในกรณีที่จำเป็นต้องใช้เกิน 30 วัน หรือเป็นยาที่มีส่วนผสมของยาเสพติด ให้โทษที่ใช้ทางการแพทย์ต้องมีมาตรการควบคุมเป็นกรณีพิเศษ เช่น ยาแก้ปวดที่มีส่วนประกอบเฟนทานิล (Fentanyl) เพทิดีน (Pethidine) เป็นต้น ต้องทำเรื่องขอและได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อใช้รักษาเฉพาะตัวก่อนออกเดินทาง พึงระลึกไว้เสมอว่ากลุ่มยาต้องห้ามนำเข้าเด็ดขาด คือ ยาเสพติดให้โทษยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง เช่น ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่น   มีระบบการตรวจสอบการนำเข้ายาอย่างเข้มงวด ทั้งยานำมาด้วยตัวเอง ทางเครื่องบินโดยสาร หรือยาที่ส่งมาทางพัสดุไปรษณีย์ หากนำเข้าไปก็มีความเป็นไปได้ที่จะถูกควบคุมตัว และดำเนินคดีตามกฎหมายของญี่ปุ่น

         อย่างไรก็ตาม ในแต่ละประเทศมีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน จึงควรศึกษารายละเอียดของข้อห้าม ข้อจำกัดของแต่ละประเทศให้เข้าใจก่อนออกเดินทางเพื่อที่จะได้ไม่ทำผิดกฎหมาย  และเดินทางได้อย่างมีความสุข รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง
ประพนธ์ อางตระกูล
ซูโดอีเฟดรีน
รายชื่อยาต้องห้าม
ห้ามนำเข้าประเทศญี่ปุ่น
Pseudoephedrine