
เพื่อแก้ปัญหาการใช้ยาในทางที่ไม่เหมาะสม เหตุวัยรุ่นและเยาวชน นำยาแก้ปวดผสมกับยาน้ำเชื่อมแก้แพ้ แก้ไอมาเสพ เพื่อหวังฤทธิ์มึนเมา อย.จึงได้ออกประกาศกำหนดให้มีการจำกัดจำนวนการจำหน่ายและการกระจายยา และกำหนดให้รายงานการขายยา เพื่อสามารถติดตามเฝ้าระวัง ป้องกันการรั่วไหลออกนอกระบบ และเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้ยายิ่งขึ้น
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบกลุ่มวัยรุ่น เยาวชน มีพฤติกรรมนำยาแก้ปวดผสมกับ ยาน้ำเชื่อมแก้แพ้ แก้ไอ มาเสพเพื่อหวังฤทธิ์มึนเมา เคลิบเคลิ้ม บั่นทอนสุขภาพและสร้างปัญหาสังคมในวงกว้าง โดยจากการจับกุมผู้กระทำผิดที่ผ่านมาพบว่า ยาน้ำเชื่อมแก้แพ้ แก้ไอทุกรายการที่มีผลให้ง่วงซึม เป็นของกลาง ในการกระทำผิด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการมาตรการในการจัดการปัญหาจากเบาไปหาหนัก อย่างเป็นขั้นตอน โดยคำนึงถึงการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน ควบคู่กับการควบคุมสถานการณ์ปัญหา รวมทั้งประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยในระยะแรกได้ดำเนินการป้องปรามและขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการฯ แต่สถานการณ์ปัญหากลับไม่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ดังนั้น อย.จึงได้ออกประกาศกำหนดให้มีการจำกัดจำนวนการจำหน่ายและกระจายยากลุ่มนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และ กำหนดให้รายงานการขายยา เพื่อเป็นข้อมูลสารสนเทศ สำหรับติดตามและเฝ้าระวังการรั่วไหลของยาเหล่านี้ออกนอกระบบสาธารณสุข ตั้งแต่วัตถุดิบทางยาจึงถึงยาสำเร็จรูป รวมทั้ง กำหนดให้เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการร้านขายยา จะต้องจัดทำบัญชีการขายยากลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ โดยระบุชื่อ สกุล ผู้ซื้อ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการจ่ายอย่างสมเหตุสมผลตามหลักวิชาการ โดยกระบวนการจัดทำประกาศฯ เหล่านี้ ได้ผ่านการมีส่วนร่วมในการยกร่างจากคณะทำงานฯ ซึ่งมีองค์ประกอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครบถ้วน และผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เหมาะสมแล้ว โดยสามารถดาวน์โหลดประกาศฯ ได้จากเว็บไซด์ สำนักยา อย. นอกจากนี้ อย. ได้ดำเนินการตรวจเฝ้าระวัง สถานประกอบการด้านยา ตั้งแต่การนำเข้าเภสัชเคมีภัณฑ์ไปจนถึงการผลิต และขายยาสำเร็จรูปที่มีความเสี่ยง ควบคู่ไปด้วย
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า การจัดทำบัญชีขายยา (แบบ ข.ย. 11) เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการ ในการแก้ปัญหา โดยกฎหมายฉบับเดิม กำหนดให้เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการต้องทำบัญชีการขายยาอันตราย ทุกรายการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 แต่ในขณะนี้ อย. ได้ปรับปรุงกฎหมาย โดยกำหนดให้ทำบัญชีการขายยา เพียงบางรายการเท่านั้น แต่มีรายละเอียดของการจัดทำบัญชีที่มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นการป้องปรามการนำยาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม โดยมีการขอ ชื่อ-สกุล ของผู้ซื้อ และแยกทำรายงานตามครั้งและ รุ่นการผลิตของยา (LOT.) ที่ร้านขายยารับยานั้น ๆ เข้ามาขาย เพื่อง่ายในการติดตาม สามารถสืบย้อนกลับได้
อนึ่ง สำหรับการขอ ชื่อ-สกุล ของผู้ซื้อ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการให้บริการทางเภสัชกรรม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดเกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์ และวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา พ.ศ.2557 ที่กำหนดให้ระบุชื่อผู้ใช้ยาลงบนซองบรรจุยาด้วย เช่นเดียวกับซองบรรจุยาของผู้ป่วยที่ได้รับยามาจากโรงพยาบาล เพื่อเป็นการป้องกันความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากการใช้ยา
อย. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับความร่วมมือจากผู้รับอนุญาตขายยา และ ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ในร้านยา เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และประโยชน์สุขโดยรวมของสังคม รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด