
อย. สนองนโยบายรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข แถลงมาตรการเชิงรุก แนวทางการดำเนินงานปีงบประมาณ 2558 ในการจัดการแก้ไขปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนทั้ง กสทช. , กระทรวง ไอซีที และ บก.ปคบ. เข้มงวดการตรวจสอบเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงทางสื่อ ต่าง ๆ เผยมีการปรับแก้กฎหมายโฆษณาให้มีบทลงโทษสูงขึ้น พร้อมกำหนดระยะเวลาพักใช้ใบอนุญาตไว้ด้วย อีกทั้งแจ้งระงับโฆษณา/เปรียบเทียบปรับ/ฟ้องคดีตามกฎหมายโดยด่วนอย่างเคร่งครัด และใช้มาตรการลงโทษสถานหนัก ทั้งสั่งปิดช่องรายการและสั่งปิดเว็บไซต์ที่กระทำผิดทันที
วันนี้ (27 เม.ย. 2558) ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อจัดการปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อในทางที่ไม่สมควรผ่านทางสื่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาของประชาชนผู้ได้รับความเดือนร้อนจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย การสั่งซื้อสินค้า รวมทั้งการกระทำความผิดอาญาอื่นทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้หน่วยงานภายในทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่กระทำผิดกฎหมายในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตนเองอย่างเคร่งครัด และหากพบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้รีบดำเนินการ แจ้งระงับโฆษณา , เปรียบเทียบปรับ/ฟ้องคดีต่อศาลตามกฎหมาย รวมทั้งให้ใช้มาตรการทางการปกครองแก่ผู้ผลิต/นำเข้า ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ฝ่าฝืนกฎหมายโฆษณาดังกล่าวอย่างเข้มงวด
ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า อย. ขอแจ้งให้สาธารณชนทราบเกี่ยวกับมาตรการดำเนินงานเฝ้าระวังและตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในปีงบประมาณ 2558 โดยมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น และได้บูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวง ICT) , และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) มาตรการที่สำคัญ ได้แก่ การปรับแก้กฎหมายโฆษณาให้มีบทลงโทษมากขึ้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น แก้ไขบทกำหนดโทษโฆษณาอาหารและยา โดยเพิ่มอัตราโทษให้สูงขึ้นทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ , ปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 เกี่ยวกับอำนาจในการระงับโฆษณาและดำเนินคดีทางอาญาโฆษณาเครื่องสำอาง ซึ่งปัจจุบันการควบคุมกฎหมายโฆษณาเครื่องสำอาง อย. ได้ใช้ของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 อยู่ เมื่อปรับแก้ร่างแล้ว อย. จะมีอำนาจดำเนินการได้เอง พร้อมกันนี้ อย. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ สื่อ และพิธีกร ผู้ดำเนินรายการ กรณีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย
ด้าน กสทช. น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะใช้อำนาจที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินการกับผู้รับใบอนุญาตผู้ประกอบกิจการวิทยุ โทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี ตามแนวทางการกำกับดูแลการให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ (โทรทัศน์ดาวเทียม และโทรทัศน์เคเบิ้ล) กรณีปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย โดยปรับทางปกครอง พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ทั้งนี้ กสทช. และ อย. ได้ดำเนินมาตรการร่วมมือเป็นพิเศษ โดย กสทช. จะเฝ้าระวังโฆษณาทางช่องทีวีดาวเทียม 53 ช่อง และส่งเทปให้ อย. ตรวจสอบ หากพบโฆษณาผิดกฎหมายภายใต้การกำกับดูแลของ อย. จะถูกระงับการโฆษณา และเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย หลังจากนั้น กสทช. จะดำเนินการตามกฎหมายภายใต้มาตรการกำกับดูแลของ กสทช. ซึ่งทั้ง กสทช. และ อย. ได้ดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และจากการตรวจสอบช่องทีวีดาวเทียมจำนวนทั้งสิ้น 41 ช่อง พบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายบ่อยครั้ง และพบการโฆษณาผิดกฎหมายจำนวน 27 ช่อง โดย อย. ได้แจ้งระงับและเปรียบเทียบปรับเจ้าของสื่อ เจ้าของผลิตภัณฑ์ และพิธีกร ผู้ดำเนินรายการเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเฝ้าระวังซ้ำทั้ง 27 ช่อง หากพบการโฆษณาผิดกฎหมายอีก อย. จะส่งเรื่องแจ้งข้อมูลให้ กสทช. ระงับการเผยแพร่ช่องรายการที่กระทำผิด และหากพบกระทำผิดซ้ำซากจะถูกพักใช้ใบอนุญาตต่อไป
ด้านกระทรวงไอซีที น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ประธานอนุกรรมการเพื่อดำเนินการสืบสวนจับกุม ปราบปราม การกระทำผิดกฎหมายทางอินเทอร์เน็ต กล่าวเพิ่มเติมต่อถึงมาตรการจัดการกับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทางเว็บไซต์และทาง Social Media ว่าได้ดำเนินงานร่วมกับ อย. อย่างใกล้ชิด แบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลัก คือ การระงับการเผยแพร่ในเว็บไซต์ , การยื่นคำร้องต่อศาลในการปิดเว็บไซต์ โดยมีการลงนามรับรองเอกสารหน้า URL. ที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายร่วมกัน , การสืบสวนจับกุมร่วมกัน , ประเมินผลงานร่วมกัน และมีกิจกรรมรณรงค์สร้างสรรค์ร่วมกัน ส่วนของการดำเนินการปิดเว็บไซต์นั้น กรณีที่ อย. ตรวจพบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทางเว็บไซต์ ก็จะส่งข้อมูลให้สำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงไอซีที เพื่อปิดเว็บไซต์ ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 (1 ต.ค. 57 – 31 มี.ค. 58) อย. เฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 622 URL. และพบการโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมาย และได้ส่งเรื่องให้กระทรวงไอซีทีเพื่อปิดเว็บไซต์จำนวน 483 URL. ซึ่งขณะนี้ปิดไปแล้วจำนวน 69 URL.ทั้งนี้กระทรวงไอซีกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการอย่างเร่งด่วน สำหรับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายและมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง อาทิ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา อย. , บก.ปคบ. และกระทรวงไอซีที ภายใต้การทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการสั่งซื้อสินค้า รวมทั้งการกระทำความผิดอาญาอื่นทางอินเทอร์เน็ต ได้ดำเนินการตรวจสอบและจับกุมการโฆษณาจำหน่ายยาแผนโบราณสมุนไพรไทย (ฉลากเขียว) ทางเว็บไซต์ต่าง ๆ มากกว่า 35 เว็บไซต์ อวดอ้างสรรพคุณครอบจักรวาล ได้แก่ http://www.thaitopbuysale.com , http://สมุนไพรไทยweebly.com , http://smoonpraithabytoey.weebly.com , http://herbg.blogspot.com , http://yasamunprai.blogspot.com , http://haveherballife.blogspot.comฯลฯ ซึ่งพบการจำหน่ายยาแผนโบราณสมุนไพรไทย (ฉลากเขียว) จำนวนมากที่เตรียมไว้ส่งให้ลูกค้าทางไปรษณีย์ และกระทรวงไอซีทีจะร่วมดำเนินการในเชิงปราบปรามและจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่องต่อไป
ด้าน บก.ปคบ. พ.ต.อ.ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม รอง ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ตำรวจ บก.ปคบ. จะร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ทั้ง อย. กสทช กระทรวงไอซีที สคบ. โดยเน้นการดำเนินการในเชิงปราบปรามเป็นหลัก รวมทั้ง บางกรณีจะมีการสืบสวนสอบสวนในเชิงลึก เพื่อขยายผลและจับกุมให้ถึงตัวผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่ง บก.ปคบ. กำหนดมาตรการสำคัญในการตรวจสอบจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการโฆษณา 2 ด้าน คือ (1) มาตรการป้องกัน มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งแผ่นพับ เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนและผู้บริโภคตระหนักถึงพิษภัยของการโฆษณาอาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นการปิดช่องทางของผู้จงใจกระทำความผิดให้น้อยลง และ (2) มาตรการปราบปราม ถือเป็นมาตรการในเชิงรุก โดยมีศูนย์ปฏิบัติการ บก.ปคบ. เฝ้าระวังรายการหรือโฆษณาตามสื่อต่างๆ ทั้งทางเคเบิลทีวี ฟรีทีวี อินเทอร์เน็ต และวิทยุ รวมทั้งการออกหาข่าวในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง และจับกุมผู้กระทำความผิดในทุกรูปแบบ รวมถึงประสานข้อมูลไปยัง อย. ให้ตรวจสอบอีกทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีผลงานตรวจจับผู้กระทำผิดและแถลงข่าวร่วมกับ อย. แล้ว เช่น การจับแหล่งขายยาสมุนไพร ผ่านทาง 35 เว็บไซต์ อวดสรรพคุณรักษาโรคครอบจักรวาล , การจับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ขายผ่านทางเคเบิ้ลทีวี ผสมสารห้ามใช้ ไม่ได้ขออนุญาต และแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มูลค่า 70 ล้านบาท , การจับผลิตภัณฑ์อาหารปลอม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนำเข้าจากต่างประเทศยี่ห้อ FUCO โฆษณาเกินจริงทางเว็บไซต์ และการจับแหล่งผลิตยาแผนโบราณยี่ห้อ WELL 101 พบสารอันตราย โฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริงทางเพศ ผ่านทางเคเบิลทีวี เป็นต้น
นพ.บุญชัย เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อถึงแนวทางการกำกับดูแลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุ ว่า ปัจจุบันยังพบว่าวิทยุชุมชนจำนวนหนึ่งยังมีการโฆษณาผิดกฎหมายอยู่ ดังนั้น อย. จึงร่วมมือกับ กสทช.
กสทช.เขต และ บก.ปคบ. ในการจับกุมวิทยุชุมชนเถื่อน (หลุมดำ) หรือคลื่นวิทยุที่ไม่ขออนุญาตใด ๆ จาก กสทช. โดยได้ยึดเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์จากคลื่นวิทยุชุมชนเถื่อน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการจับกุมไปแล้วหลายครั้ง อาทิ วิทยุชุมชน“บ้านเฮาเรดิโอ” คลื่นความถี่ FM 95.750 MHz. , วิทยุชุมชน “รักเด้อ เรดิโอ” คลื่นความถี่ FM 99.25MHz. , วิทยุชุมชน “สัมพันธ์จักรชัย เพื่อความมั่นคง จ.อุดรธานี” คลื่นความถี่ FM 95.40 MHz. เป็นต้น นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2558 อย.จะร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) กสทช.เขต ดำเนินการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางสื่อวิทยุชุมชนอย่างเข้มงวดมากขึ้น และดำเนินการร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคในจังหวัดต่อไป
ส่วนของมาตรการเชิงรุกการกำกับดูแลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. จะจัดทำเว็บไซต์โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาทั้งในส่วนการกำกับดูแลก่อนและหลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด พร้อมทั้งฐานข้อมูลการโฆษณาของผลิตภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องมือแพทย์ ให้สมบูรณ์ สามารถใช้งานได้ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งจัดทำคู่มือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพภายใต้การกำกับดูแลของ อย. และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมระหว่าง สสจ. และ กสทช.เขต เพื่อบูรณาการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในส่วนภูมิภาค ตลอดจนจัดให้มีการประชุมอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายโฆษณาแก่ผู้ประกอบกิจการสถานีวิทยุทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี อีกด้วย อย. จะไม่หยุดนิ่งดำเนินการทุกวิถีทางร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน เพื่อกำจัดโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายให้หมดสิ้นไปจากสื่อทุกสื่อ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค หากพบเห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงทางสื่อต่าง ๆ แจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Oryor Smart Application หรือสายด่วน กสทช. 1200 หรือ สายด่วนกระทรวงไอซีที 1212 , สายด่วนรัฐบาล 1111 หรือสายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด