อย. เดินหน้าจับเว็บไซต์โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง ล่าสุดจับมือ บก.ปคบ. จับ 2 เว็บไซต์ (www.multilifeshop.com) โฆษณาขายผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์นมผึ้ง (Royal Jelly) Multi Life อวดสรรพคุณรักษาโรคไมเกรน ภูมิแพ้ สรรพคุณมากมาย และเว็บ (www.marmui.com) โฆษณาขายผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Premium อวดสรรพคุณเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ รุดตรวจสอบสถานที่ส่งและขายสินค้า พบเว็บแรกอยู่ที่บ้านเลขที่ 80 หมู่ 6 ตำบลศรีนาวา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายกและ เว็บที่สอง อยู่ที่ บ้านเลขที่ 19/10 หมู่บ้านเดอะ แพลนด์ แขวงออเงิน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร จากการตรวจสอบ ทั้ง 2 แห่ง พบผลิตภัณฑ์ตามที่โฆษณาทางเว็บ แจ้งดำเนินคดีผู้กระทำผิดข้อหาทั้งจำและปรับ เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์อาหารอวดสรรพคุณ เกินจริง อ้างรักษาได้สารพัดโรค ย้ำ!ผลิตภัณฑ์อาหารไม่ใช่ยารักษาโรค ขอให้ผู้บริโภคพิจารณาถี่ถ้วนก่อนซื้อ มิฉะนั้นอาจเสียเงินโดยไม่จำเป็น และเสียโอกาสในการรักษาโรค โรคอาจกำเริบ และเป็นอันตรายได้
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ ตำรวจ บก.ปคบ. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำทีมโดย พล.ต.ต.สมชาย ทองศรี ผบก.ปคบ. , พ.ต.อ.ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม รอง ผบก.ปคบ. , พ.ต.อ.ทรงโปรด สิริสุขะ ผกก.4 บก.ปคบ. , พ.ต.ท.อภิชัย ไลออน สารวัตรกองกำกับการ 4 บก.ปคบ. และ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ประธานอนุกรรมการเพื่อดำเนินการสืบสวน จับกุม ปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายทางอินเทอร์เน็ต แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จากนโยบายรัฐบาลในการหา แนวทางแก้ไขปัญหาของประชาชนผู้ได้รับความเดือนร้อนจากการสั่งซื้อสินค้า รวมทั้งการกระทำความผิดอาญาอื่นทางอินเทอร์เน็ต ประกอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน) มีนโยบายในการสร้างความเข้มแข็งของระบบการติดตามเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายภายหลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ดังนั้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารโฆษณาเกินจริงในเว็บไซต์ 2 เว็บไซต์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 อย. จับมือ บก.ปคบ. เข้าตรวจสอบแหล่งขายสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ ตามที่ตำรวจ บก.ปคบ. ได้สืบสวนทราบข้อมูลที่อยู่ของชื่อบุคคลที่ปรากฏในเว็บไซต์ ดังนี้
กรณีเว็บไซต์ (www.multilifeshop.com) ตรวจสอบพบโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์นมผึ้ง (Royal Jelly) Multi Life อวดสรรพคุณรักษาโรคไมเกรน ภูมิแพ้ สรรพคุณมากมาย แค่กระปุกเดียวเริ่มเห็นผล พบว่ามีหัวข้อการสั่งซื้อ การจัดส่งสินค้า และช่องทางการชำระเงิน ระบุชื่อบัญชี นายพีรพงษ์ อริยกวี ธนาคาร ไทยพาณิชย์ สาขานครนายก เลขที่บัญชี 659-2-18767-3 ธนาคารกรุงเทพ สาขานครนายก เลขที่บัญชี 305-0-68208-1 จากการขยายผลพบชื่อบุคคลดังกล่าว อยู่ที่จังหวัดนครนายก ดังนั้น จึงเข้าตรวจสอบสถานที่บ้านเลขที่ 80 หมู่ 6 ตำบลศรีนาวา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ผลการตรวจสอบพบการแบ่งบรรจุผลิตภัณฑ์อาหารผิดกฎหมาย คือ ผลิตภัณฑ์นมผึ้ง (Royal Jelly) ยี่ห้อ Multi Life แสดงฉลากไม่ถูกต้อง กล่าวคือ ไม่แสดงเลข สารบบอาหาร และจำหน่ายผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งมีการโฆษณาสรรพคุณอาหารโดยไม่ขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
เบื้องต้นได้แจ้งข้อหา ดังนี้
1. จำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
2. โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000บาท หรือถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นการโฆษณาสรรพคุณอาหารโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีเว็บไซต์ (www.marmui.com) ตรวจสอบพบโฆษณาผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Premium ใช้ข้อความว่า “ทำให้สมรรถภาพดีขึ้น เพิ่มความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ได้เป็น 10 เท่า ยืดระยะเวลาการมีเพศสัมพันธ์ ชะลอการหลั่งเร็ว เพิ่มปริมาณฮอร์โมนทางเพศ ช่วยในรายที่มีบุตรยาก ใช้รักษาโรคพาร์กินสันด้วย” พบวิธีการสั่งสินค้าผ่านอีเมล pennapa.rabbit@gmail.com เบอร์โทรศัพท์ 0890662649 (คุณต่าย) จากการขยายผลพบชื่อบุคคลดังกล่าว อยู่ที่บ้านเลขที่ 19/10 หมู่บ้านเดอะแพลนด์ แขวงออเงิน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว ผลการตรวจพบการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารได้แก่ กาแฟเม็ดหมามุ่ยสำเร็จรูปชนิดผง Premium Coffee แสดงเลขสารบบอาหารปลอม (อย.10-2-16154-0052) และพบยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา 2 รายการ คือ แคปซูลเม็ดหมามุ่ย Premium และแคปซูลถังเช่าแห่งหิมาลัย100% Asia Herb ซึ่งเจ้าของผลิตภัณฑ์รับว่าเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ลูกค้าทั่วไปทางเว็บไซต์ และเป็นผู้โฆษณาโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Premium อวดสรรพคุณเพิ่มสมรรถภาพทางเพศดังกล่าวจริง
เบื้องต้นได้แจ้งข้อหา ดังนี้
1. จำหน่ายอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 100,000 บาท
2. ผลิตและขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางทั้ง 2 แห่ง มูลค่ากว่า 200,000 บาท และเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจหาสารอันตรายที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่อไป
นพ.บุญชัย เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดจะไม่สามารถกล่าวอ้างรักษาโรคหรืออ้างว่ามีสรรพคุณทางยาได้ จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์อาหารที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง อ้างรักษาได้สารพัดโรค เนื่องจากข้อความโฆษณาที่มีการอวดสรรพคุณในทางยาหรืออวดสรรพคุณรักษาโรค อย. จะไม่อนุญาตให้โฆษณาแต่อย่างใด และจะมีความผิดตามกฎหมายอีกด้วย สำหรับผู้บริโภคก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร ขอให้สังเกตฉลากของผลิตภัณฑ์ว่า มีการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหรือผลิตภัณฑ์ยา หากเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร จะแสดงเครื่องหมาย อย. บนฉลากพร้อมด้วยเลขสารบบอาหาร ตัวอย่างเช่น นอกจากนี้ ขอให้ผู้บริโภคอ่านและศึกษารายละเอียดที่ปรากฏบนฉลาก ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทุกครั้ง อีกทั้งหากพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายหรือมีการแสดงสรรพคุณที่ โอ้อวดเกินจริง สามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย.1556 หรือรองเรียนผาน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วน บก.ปคบ 1135 หรือสายด่วนกระทรวงไอซีที 1212 เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด