อย. ปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตราย “เมโทมิล”ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลงที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข
29 เมษายน 2558

อย. ปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตราย “เมโทมิล” (methomyl) เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งจะมีผล ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลงที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป หากพบมีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

            ภก. ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)และในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยว่า ตามที่มีการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 5 มกราคม 2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา นั้น ได้มีการปรับชนิดวัตถุอันตราย เมโทมิล (methomyl) ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข ที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่การป้องกันควบคุม ไล่ กำจัดแมลงและสัตว์อื่น จากเดิมเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 ไปเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จึงมีผลทำให้ห้ามการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้จัดให้สารเมโทมิลอยู่ในกลุ่ม  สารกำจัดแมลงที่มีความเป็นพิษสูง ซึ่งสารชนิดนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการดูดซึมผ่านทางผิวหนังทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร โดยผู้ที่ได้รับ   สารเมโทมิลอาจแสดงอาการพิษภายในระยะเวลาไม่กี่นาที หรืออาจช้าได้ถึง 12 ชั่วโมง อาการแสดงจากพิษเฉียบพลันของเมโทมิลอาจรวมไปถึง อาการเหงื่อออก ปวดศีรษะ เพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ตาพร่ามัว กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุก ชัก โคม่า สูญเสียการควบคุมของกล้ามเนื้อหูรูด ความดันโลหิตต่ำ มีความผิดปกติของหัวใจและอาจเสียชีวิตได้จากภาวะอัมพาตของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจและ    การหดเกร็งของปอด นอกจากนี้ เมโทมิลยังอาจมีผลต่อการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ ทำให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานผิดปกติ และเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนและสารชีวเคมีในร่างกายได้ ทางองค์การอนามัยโลก และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ไม่แนะนำให้ใช้เมโทมิลในบริเวณที่พักอาศัย

             รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ทาง อย. มีมาตรการกำกับดูแลสารดังกล่าว โดยไม่รับขึ้นทะเบียน และไม่อนุญาตให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเมโทมิลในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ควบคุม ไล่ กำจัดแมลงและสัตว์อื่นรวมทั้ง มีการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ในแหล่งจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ และเฝ้าระวังสถานประกอบการที่อยู่ในความดูแลของ อย. หากพบผู้ใดฝ่าฝืน จะมีโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฯ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม สารเมโทมิล ในผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงที่ใช้ทางการเกษตร ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จึงอาจพบผลิตภัณฑ์ในแหล่งจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรได้ ดังนั้น ประชาชนจึงไม่ควรนำผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงที่ใช้ทางการเกษตรมาใช้กำจัดแมลงในบ้านเรือนหรือเพื่อทางสาธารณสุข เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อคน และสัตว์เลี้ยงได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง
ประพนธ์ อางตระกูล
เมโทมิล
methomyl
ผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลง