
อย. ใช้แนวคิดใหม่ในการดำเนินงานโครงการอาหารปลอดภัย ปี 2558 มุ่งหารูปแบบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เหมาะสมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
เน้นเสริมสร้างพฤติกรรมการบริโภค กระตุ้นเด็กรับรู้ ตระหนัก เชื่อ และปฏิบัติตาม โดยจัดทำแผนการเรียนรู้ 9 แผนกิจกรรม ทดลองกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ในโรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของโรงเรียนต้นแบบ จาก 4 ภาค หวังลดการบริโภคขนม หรือ อาหารที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ
และเด็กรู้จักอ่านและใช้ประโยชน์จากฉลากอาหาร เช่น ฉลากหวาน มัน เค็ม (ฉลาก GDA)บนซองขนมกรุบกรอบ ในการลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม
รวมถึงส่งเสริมให้เด็กฉลาดซื้อ ฉลาดบริโภค อาหารหน้าโรงเรียนอย่างปลอดภัย หวังต่อยอดไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศ
ภก. วีระชัย นลวชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค และในฐานะรองโฆษกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า
จากการที่ อย. ดำเนินงานโครงการอาหารปลอดภัย ปี 2558 เพื่อมุ่งหารูปแบบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เหมาะสมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ภายใต้แนวคิด “พัฒนานิสัย ใส่ใจบริโภค สร้างเสริมสุขภาพ” โดยจัดทำแผนการเรียนรู้ 9 แผนกิจกรรม ทดลองกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนต้นแบบ
4 โรงเรียน จาก 4 ภาค ได้แก่ โรงเรียนภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โรงเรียนแกลง “วิทยสถาวร” จังหวัดระยอง โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล จังหวัดกระบี่
และโรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ นั้น ทีมงาน อย. มีการลงพื้นที่เยี่ยมชมการทดลองใช้รูปแบบดังกล่าว ณ โรงเรียนต้นแบบนำร่องในภาคเหนือ
ได้แก่ โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีการทดลองใช้แผนการเรียนรู้ดังกล่าวกับเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 40 คน โดยกิจกรรมตามแผนการเรียนรู้
จะมีการให้ความรู้เบื้องต้นกับนักเรียน และบรรจุกิจกรรมที่หลากหลายลงในแผนการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้นอกบทเรียน ที่มีสาระแทรกความสนุกสนาน
เน้นเด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรม แฝงการเรียนรู้หวังลดการบริโภคขนม หรือ อาหารที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เช่น ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
และกาเฟอีนเป็นส่วนประกอบและมีน้ำตาลสูง เด็กรู้จักอ่านและใช้ประโยชน์จากฉลากอาหาร เช่น ฉลากหวาน มัน เค็ม (ฉลาก GDA) บนซองขนมกรุบกรอบ
ในการลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม รวมถึงส่งเสริมให้เด็กฉลาดซื้อ ฉลาดบริโภค มีวิธีเลือกบริโภคอาหารหน้าโรงเรียน เช่น อาหารทอด ปิ้ง ย่าง ใส่สี อย่างปลอดภัย
ลดความเลี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กในอนาคต โดยจะมีการสังเกตพฤติกรรมการซื้อและบริโภคของเด็กก่อนและหลังดำเนินงาน
ว่าสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของนักเรียนตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในเบื้องต้น ครอบคลุมด้านใดบ้าง และในระดับใด จากนั้นประเมิน
และปรับปรุง แผนการเรียนรู้ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้โรงเรียนต่าง ๆ สามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบต่อไปได้
รองโฆษก อย. กล่าวต่อไปว่า การทดลองใช้รูปแบบในครั้งนี้ จะกระตุ้นให้เด็กรับรู้ ตั้งแต่เริ่มแผนกิจกรรมถึงความสำคัญของการมีสุขภาพดี
และรู้ว่าพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่เด็กส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ หากบริโภคหวาน มัน เค็ม ตามใจปาก เด็กอาจถูกโรคภัยคุกคามได้ตั้งแต่ยังเด็ก
จึงไม่ควรมองเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเมื่อสุขภาพเสียไป ไม่สามารถย้อนเวลาไปเพื่อแก้ไขได้ เข้าใจ ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร ฉลาดบริโภคด้วยวิธีไหน
จึงจะช่วยสุขภาพดี และการอ่านและใช้ประโยชน์จากข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ เช่น ฉลากหวาน มัน เค็ม เป็นหนึ่งในวิธีการที่ดี ในการช่วยให้หุ่นดี และสามารถป้องกัน
โรคที่เกิดจากการบริโภคหวาน มัน เค็ม มากเกินไป ตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
หากไม่มีการควบคุมอาหารอย่างจริงจัง ความรุนแรงถึงขั้นถูกตัดขา หรืออาจเกิดอาการหัวใจวาย ไตล้มเหลว ตาบอด หมดสติและอาจเสียชีวิตได้ เป็นต้น
ซึ่งในปัจจุบันพบว่าเด็กมีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้น โดยหวังว่าการกระตุ้นด้วยแนวคิดดังกล่าวจะส่งผลให้เด็ก เชื่อ และปฏิบัติตาม
รูปแบบของแผนการเรียนรู้จะมีการประยุกต์ให้แตกต่างกัน ในบางแผนการเรียนรู้จะอยู่ในลักษณะของฐานกิจกรรม สอนภายนอกห้องเรียน เพื่อสร้างสีสันในการเรียนรู้
แก่เด็ก เช่น แผนการเรียนรู้ “โรงหนังปลอดภัย” เด็กจะได้รับชมวีดิทัศน์ที่ผลิตในลักษณะอินเตอร์แอ็คทีฟ (Interactive) โดยเด็กสามารถมีส่วนร่วมในการโต้ตอบผ่าน
วีดิทัศน์ได้ มุ่งสื่อสารให้เด็กรู้จักกับภัยร้ายที่อาจแฝงมากับอาหารหน้าโรงเรียน อาหารชนิดใดที่เมื่อพบการใส่สีแล้วไม่ควรบริโภค รู้จักฉลากหวาน มัน เค็ม
แผนการเรียนรู้ “คนฉลาดรู้จักเลือกบริโภค” เป็นการเรียนรู้ผ่านแท็บแล็ต ซึ่งบรรจุแอพพลิเคชั่นที่ อย. ทำไว้ในรูปแบบเกมตอบคำถามผ่านร้านค้าในเกม เช่น
ร้านขนมกรุบกรอบ ร้านน้ำอัดลม/น้ำหวาน ร้านทอด ปิ้ง ย่าง เน้นให้เด็กสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง มากกว่าการสอนให้เด็กท่องจำ หรือ
แผนการเรียนรู้ “ช็อปปิ้งฉลาดคิด” มุ่งให้เด็กฉุกใจคิดทุกครั้งที่เลือกซื้อขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม น้ำชาเขียว ว่าเมื่อบริโภคเข้าไปอาจได้รับ ไขมัน โซเดียม น้ำตาล
ในปริมาณที่มากจนคาดไม่ถึง โดยสอนให้เด็ก ๆ รู้จักวิธีการนำข้อมูลบนฉลากหวาน มัน เค็ม ที่อยู่บนซองขนม มาคิดคำนวณปริมาณพลังงาน ไขมัน โซเดียม น้ำตาล
ที่จะได้รับเมื่อซื้ออาหารเหล่านี้มาบริโภค ผนวกด้วยให้ความรู้เกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับการบริโภคอาหารดังกล่าว พร้อมทั้งให้เด็กวิเคราะห์แนวโน้มที่จะเกิด
โรคต่าง ๆ หากบริโภคขนมและน้ำอัดลมที่เลือกไว้ได้ เป็นต้น
การดำเนินการทดลองรูปแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในครั้งนี้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากโรงเรียนไม่เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่เด็กจะได้รับจากการดำเนินงานโครงการอาหารปลอดภัย ในครั้งนี้ และให้การสนับสนุนโดยเปิดโอกาสให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้ามาดำเนินการ และการจัดทำแผนการเรียนรู้ดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น เพราะ อย. มีเครือข่ายพันธมิตรที่ดี มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารและครูจากโรงเรียนต้นแบบ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน โดยหลังการทดลองใช้แล้วจะมีการนำมาปรับปรุง เพื่อให้ได้รูปแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เหมาะสมต่อไป สามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบกับโรงเรียนอื่น ๆ ได้ต่อไป