อย. เผย ผลสำเร็จพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมในโครงการอาหารปลอดภัย ปีงบประมาณ 2558 หลังจัดทำโมเดลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของนักเรียนชั้น ม.ต้น ออกแบบสร้างแผนกิจกรรมการเรียนรู้ 9 แผน พร้อมสื่อประกอบให้แก่โรงเรียนต้นแบบทั้ง 4 ภาค พบนักเรียนมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัยมากกว่าเดิม โดยก่อนการทดลองนักเรียนมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัยอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 68.5) หลังการทดลองนักเรียนมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัยเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 75.5) โดยเฉพาะก่อนการเลือกซื้ออาหาร จะมีการอ่านฉลากเพิ่มขึ้น รู้จักการอ่านและใช้ประโยชน์จากฉลากหวาน มัน เค็ม (ฉลาก GDA) ลดการดื่มน้ำอัดลม ลดการบริโภคขนมกรุบกรอบที่มีโซเดียมมากเกิน โดย อย. พร้อมจะขยายผลให้โรงเรียนอื่น ๆ นำโมเดลต้นแบบไปใช้หวังเด็กไทยมีสุขภาพดี ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครอบครัว และเป็นกำลังของชาติที่เข้มแข็งต่อไป
วันนี้ (26 สิงหาคม 2558) ณ ห้องประชุมหลวงวิเชียรแพทยาคม ชั้น 2 ตึก อย. นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และคณะ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่าจากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับคุณภาพด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน โดยเน้นการป้องกันโรคมากกว่ารอให้ป่วยแล้วจึงมารักษา ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น การเริ่มต้นให้เด็กไทยหันมารักษ์สุขภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ในส่วนของ อย. มีการดำเนินโครงการอาหารปลอดภัยอย่างต่อเนื่องทุกปี สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ได้จัดทำโครงการดังกล่าวภายใต้แนวคิด “พัฒนานิสัย ใส่ใจบริโภค สร้างเสริมสุขภาพ” เพื่อหารูปแบบ (model) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เหมาะสมของนักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น โดยร่วมมือกับคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตกรุงเทพ รวมถึงโรงเรียนต้นแบบและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่โรงเรียนต้นแบบตั้งอยู่ดำเนินการโดยใช้การวิจัยเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ เพื่อหาสาเหตุและสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และนำผลที่ได้มาสร้างรูปแบบเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ซึ่งประกอบด้วยแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้จำนวน 9 แผน รวมถึงได้จัดทำสื่อต้นแบบประกอบการจัดกิจกรรมตามแผน เช่น สารคดีสั้น สื่อวีดิทัศน์ประกอบ infographic ชุดนิทรรศการ หนังสือเสริมสร้างพฤติกรรมการบริโภค ฯลฯ ซึ่ง อย. นำแผนการจัดกิจกรรมทั้ง 9 แผนทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนต้นแบบ 4 โรงเรียน จาก 4 ภาค ได้แก่ โรงเรียนแกลง“วิทยสถาวร” จ.ระยอง , โรงเรียนภูเขียว จ.ชัยภูมิ , โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม จ.เชียงใหม่ และโรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล จ.กระบี่
หลังการทดลองทั้ง 4 โรงเรียนต้นแบบ ผลปรากฏว่า หลังการทดลองนักเรียนกลุ่มทดลองมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัยในทางที่ดีขึ้น ได้แก่ มีความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัย จากร้อยละ 60.1 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 81.1 รับรู้โอกาสเสี่ยงจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ปลอดภัยจากร้อยละ 71.6 เพิ่มเป็นร้อยละ 93.2 รับรู้ความรุนแรงจากการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ปลอดภัยจากร้อยละ 80.0 เพิ่มเป็นร้อยละ 89.4 รับรู้ประโยชน์จากการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัยจากร้อยละ 84.0 เพิ่มเป็นร้อยละ 93.6 รับรู้อุปสรรคจากการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัยจากร้อยละ 55.4 ลดลงเหลือ ร้อยละ 40.6 มีสิ่งชักนำสู่การปฏิบัติในการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัย จากร้อยละ 81.0 เพิ่มเป็นร้อยละ 90.8 มีความเชื่อมั่นในความสามารถตนเองในการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัย จากร้อยละ 78.2 เพิ่มเป็นร้อยละ 86.4 สิ่งสำคัญที่ต้องการปรับเปลี่ยน คือพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัย พบว่า ก่อนการทดลอง นักเรียนกลุ่มทดลองมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัยอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 68.5 เพิ่มขึ้นเป็นระดับมากคิดเป็นร้อยละ 75.5 โดยสรุปคือ หลังการทดลองนักเรียนกลุ่มทดลองมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัยในทางที่ดีขึ้น และมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารปลอดภัยมากกว่าก่อนการทดลอง
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า โมเดลต้นแบบจากแผนการเรียนรู้ดังกล่าวนับว่าประสบผลสำเร็จสูง เพราะทำให้เด็กไทยลดการบริโภคขนมหรืออาหารที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เช่น ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและกาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ ทำให้เด็กรู้จักอ่านฉลากก่อนการเลือกซื้ออาหาร โดยเฉพาะการอ่านและใช้ประโยชน์จากฉลากหวาน มัน เค็ม บนซองขนมกรุบกรอบ รวมทั้งมีภูมิความรู้ทางปัญญาในการเลือกซื้อเลือกบริโภคอาหารที่ขายตามหน้าโรงเรียน เช่น อาหารทอด ปิ้ง ย่าง ใส่สี เป็นต้น กิจกรรมดังกล่าวถือเป็นมิติใหม่ของ อย. ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของนักเรียน เสริมการเรียนรู้เรื่องการบริโภคอาหารอย่างเหมาะสมปลอดภัย นำมาซึ่งความปลอดภัยของเด็กไทย หวังให้มีอาวุธทางปัญญาเป็นเกราะป้องกันตัวจากเด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รับรู้โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคที่ต้นเหตุมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม พร้อมใจกันลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวในการดูแลสุขภาพ ที่สำคัญยังจะป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและโรคอ้วนให้เด็กไทยไม่เกิดปัญหาสุขภาพตามมา ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะโรงเรียนให้ความสำคัญและร่วมกันผลักดันเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพนักเรียน ดังนั้น เพื่อเป็นการขอบคุณในความร่วมมือ อย. จึงได้มีการมอบโล่ให้แก่ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูผู้รับผิดชอบหลัก อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 อย. จะเดินหน้าต่อในการรณรงค์ให้เด็กไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้ครอบคลุมโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไปอีก โดยการนำแผนการเรียนรู้ที่ได้มีการประเมินและปรับปรุงจนมีรูปแบบที่สมบูรณ์มากขึ้นนี้ไปใช้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียน และจะมีการติดตามประเมินผลเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง