
~~อย.เผย พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2558 มุ่งส่งเสริม ให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากล และเพิ่มมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงเพิ่มสิทธิ์ผู้ประกอบการ เพื่อให้การทำงานของภาครัฐโปร่งใส ตรวจสอบได้
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และในฐานะโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ด้วยพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบกับประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนต้องเปลี่ยนแปลงระบบการกำกับดูแลเครื่องสำอางให้เป็นระบบเดียวกัน คือระบบการแจ้งรายละเอียดเครื่องสำอางก่อนที่จะผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอาง ในการนี้จึงได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเรื่องเครื่องสำอางให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางของประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากล รวมทั้งปรับปรุงมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของการจัดทำพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2558 ส่งผลให้ใบรับ จดแจ้งเครื่องสำอางที่ได้รับก่อนวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ กำหนดให้มีอายุ 3 ปี จะหมดอายุในวันที่ 8 กันยายน 2561 และผู้ประกอบการต้องเตรียมตัว ในการศึกษาข้อมูลพระราชบัญญัติ รวมถึงกฎหมายฉบับรองที่จะออกมาเพื่อรองรับพระราชบัญญัติเครื่องสำอางดังกล่าวต่อไป
พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ได้เน้นมาตรการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยการอำนวย ความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการสามารถผลิตเครื่องสำอางตามมาตรฐานของประเทศคู่ค้าได้ แต่ต้องไม่มีการนำมาขายในประเทศ ส่วนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค มีมาตรการกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องสำอาง มีมาตรการเรียกเก็บคืนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้จากท้องตลาด กำหนดให้มีด่านตรวจสอบเครื่องสำอางนำเข้า และยังให้อำนาจในการเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางได้ ในกรณีที่เป็นเครื่องสำอางที่มีการผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางไม่ตรงตามที่จดแจ้ง หรือเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ หรือกรณีที่ผู้จดแจ้งได้เปลี่ยนหรือเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของเครื่องสำอางนั้นไปเป็นวัตถุอื่น เช่น ยา อาหาร หรือ เครื่องมือแพทย์ และมีการเพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่กระทำฝ่าฝืนกฎหมายให้แรงกว่าเดิม เช่น ผู้ใดผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่มีสารห้ามใช้เป็นส่วนผสม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดขายเครื่องสำอางที่มี สารห้ามใช้เป็นส่วนผสม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ยังได้นำมาตรการกำกับดูแลการโฆษณาเครื่องสำอางมาบัญญัติไว้ จากเดิมที่ต้องอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งจะทำให้ อย. สามารถทำงานได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังได้เพิ่มสิทธิของผู้ประกอบการในการอุทธรณ์คำสั่งต่าง ๆ ได้ เพื่อให้การทำงานของภาครัฐมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และลดการใช้อำนาจโดยมิชอบอีกด้วย