
อย. เผย งานวิจัยสมุนไพรตามโครงการวิจัยและพัฒนาสารสกัด และ/หรือ น้ำมันหอมระเหย จากสมุนไพรที่ใช้ในเครื่องสำอาง พัฒนาเครื่องสำอางให้มีมูลค่าสูง ส่งเสริมการส่งออก และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ หวังให้ผู้บริโภคได้รับเครื่องสำอางที่มีคุณภาพและปลอดภัย
วันนี้ (วันที่ 19 พฤศจิกายน 2558) ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ชั้น 1 ตึก อย. นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับ โครงการพัฒนาสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ว่า สืบเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาสมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์สุขภาพว่า “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกสมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้มาตรฐานสากล (Thailand is the world class of Herbs)” ประกอบกับการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ในปลายปี พ.ศ.2558 หรือต้นปี พ.ศ.2559 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อบูรณาการการทำงานและเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในประเทศไทยให้มากขึ้นและเทียบเท่าสากล โดยการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและการพัฒนาเครื่องสำอางผสมสมุนไพรของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น
ศูนย์กลางผลิตภัณฑ์สุขภาพนานาชาติ อีกทั้งเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันและลดอุปสรรคต่อข้อจำกัดต่างๆ หลายประการในการพัฒนาดังกล่าวข้างต้น อาทิ คุณภาพวัตถุดิบ การตรวจวิเคราะห์การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ทั้งด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์และมาตรฐานการผลิตรวมทั้งการส่งเสริมตรา/ สัญลักษณ์ความเป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า อย. จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและ ส่งเสริมการพัฒนาเครื่องสำอาง เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์สุขภาพนานาชาติ ในระดับมาตรฐานสากลสำหรับตลาดส่งออก สำหรับวัตถุประสงค์ของการแถลงข่าวในวันนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรในเครื่องสำอางให้ประชาชนรับทราบและภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ประโยชน์และปฏิบัติได้จริงต่อไป ผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่
- การบูรณาการตั้งแต่การสกัดสารสำคัญจากสมุนไพร การศึกษาฤทธิ์ทางเครื่องสำอางการพัฒนาสูตร การทดสอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอาง การตรวจวิเคราะห์ วิธีการสกัดสารสำคัญ การตั้งสูตรตำรับ และตัวอย่างการผลิตเครื่องสำอางผสมสมุนไพร จาก มะหาด มะรุม มะขาม มะพร้าว และทับทิม โดย มหาวิทยาลัยนเรศวร
- การพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์สมุนไพร 11 ชนิด ได้แก่ กวาวเครือขาว บัวบก กระชายดำ ไพล ขมิ้นชัน ว่านหางจระเข้ แตงกวา มะกรูด หม่อน ชาเขียว องุ่น (เมล็ด) เพื่อเป็นข้อมูลในการถ่ายทอดการตรวจสอบสู่หน่วยวิเคราะห์ในระดับท้องถิ่นต่อไป โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- การจัดทำฐานข้อมูลสมุนไพรต่างๆ ที่สามารถใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิต เครื่องสำอาง จำนวน 100 ชนิด เช่น ชื่อต่างๆ ของสมุนไพร ภาพของสมุนไพร ประโยชน์สมุนไพร สารสำคัญที่พบในสมุนไพร วิธีตรวจวิเคราะห์ เป็นต้น โดย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คู่มือการผลิตเครื่องสำอางชุมชน ซึ่งจะมีเนื้อหาทั้งด้านกฎหมาย สูตรเบื้องต้นในการผลิตเครื่องสำอางประเภท สบู่ แชมพู conditioner วิธีการผลิตที่ดีของเครื่องสำอาง โดย มหาวิทยาลัยมหิดล
- การพัฒนายกระดับแบรนด์เครื่องสำอางผสมสมุนไพรไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการ
อาหารและยา และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในรูปคณะทำงาน
- การปรับปรุงกฎหมายและหลักเกณฑ์ต่างๆให้สอดคล้องกับสากล
- การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์และมาตรฐานการผลิต และการส่งเสริมตรา/สัญลักษณ์ความเป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ (จัดทำเกณฑ์การคัดเลือกเครื่องสำอางผสมสมุนไพร/ สร้างแบรนด์ชูเอกลักษณ์สมุนไพรไทย)
- กิจกรรมเพื่อพัฒนาการลงทุน การตลาดและการโฆษณาเครื่องสำอาง โดยมหาวิทยาลัย
หอการค้าไทย
เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และจะช่วยส่งเสริมการส่งออก อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งจะช่วยคุ้มครองให้ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยด้วย