
อย. จับมือ กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนองนโยบายรัฐ รุดดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ปีงบ 2559 เข้มงวดยิ่งขึ้น ทั้งมาตรการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเพิ่มมาตรการทางปกครอง มีโทษแรงขึ้น หวังให้ผู้บริโภคไม่ตกเป็นเหยื่อโฆษณาเกินจริง
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาล ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาของประชาชนผู้ได้รับความเดือนร้อนจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย การสั่งซื้อสินค้าและการกระทำความผิดอาญาอื่นทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีแนวทางการดำเนินการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อโทรทัศน์อย่างเข้มข้นขึ้น ทั้งมาตรการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยทาง กสทช. มีการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อโทรทัศน์ มีการนำระบบการตรวจสอบสิ่งผิดกฎหมายและกลไกการดำเนินการ (ระบบ Intensive watch) มาใช้กับช่องโทรทัศน์จำนวน ๔๐ ช่อง แบ่งเป็น ทีวีดิจิตอล/ฟรีทีวี ๑๔ ช่อง และช่องโทรทัศน์ดาวเทียม ๒๖ ช่อง ทั้งนี้ หากพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพฝ่าฝืนกฎหมายทางช่องที่เฝ้าระวังอยู่ กสทช. จะแจ้ง อย. เพื่อตรวจสอบโฆษณาและส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย สำหรับช่องที่ไม่มีในระบบการตรวจสอบสิ่งผิดกฎหมายของ กสทช. ทาง กสทช. จะดำเนินการโดยใช้มาตรการความร่วมมือพิเศษกับ อย. โดยจะร่วมมือกัน โดยขอให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์อัดเทปโฆษณา พร้อมทั้งส่งแผ่นซีดีบันทึกเทปและรายละเอียดการถอดเทปข้อความโฆษณามาให้ อย. ตรวจสอบ หากพบการโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมาย ทาง อย. และ กสทช. จะดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการโครงข่ายและเครือข่ายภาคประชาชนประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ กพย. ร่วมมือกันเรื่องการแจ้งเบาะแสช่องโทรทัศน์ที่มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยหากภาคประชาชนพบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ให้อัดคลิปโฆษณาฯ พร้อมระบุชื่อช่อง ชื่อกล่องรับสัญญาณ วันเวลาออกอากาศ โดยจะส่งข้อมูลดังกล่าวผ่านไลน์กลุ่ม เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการแจ้งข้อมูล เพื่อให้โครงข่ายที่มีช่องโทรทัศน์ที่มีการโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายระงับการออกอากาศ 7 วัน หากเกินกำหนดไม่ปฏิบัติตาม ทางผู้ประกอบการโครงข่ายจะทำการบันทึกเทปการออกอากาศโฆษณาดังกล่าว ส่งมาให้ทาง อย. เพื่อให้ อย. และ กสทช. ดำเนินการทางกฎหมาย อีกทั้ง อย. นำมาตรการทางปกครองมาใช้บังคับผู้กระทำฝ่าฝืนกฎหมายโฆษณาให้เข้มข้นมากขึ้น โดยมุ่งเน้นดำเนินคดีกับโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโอ้อวดเกินจริงหรือหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร หากพบฝ่าฝืน จะรีบดำเนินการแจ้งระงับโฆษณา เปรียบเทียบปรับ และฟ้องคดีต่อศาล โดยดำเนินการทางอาญากับผู้กระทำผิดตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากพบว่าผู้รับอนุญาตผลิตภัณฑ์กระทำความผิดซ้ำซ้อน อย. จะใช้มาตรการทางปกครองเพื่อดำเนินการกับผู้กระทำผิดเพิ่มขึ้น ได้แก่ การงดผลิต , การพักใช้ใบอนุญาตผลิต , การเพิกถอนเลข อย. / ใบสำคัญฯ , การเพิกถอนใบอนุญาต รวมถึงการโฆษณาที่เป็นความผิดและมีการฟ้องคดีต่อศาลให้ดำเนินการ พักใช้ใบอนุญาตไว้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งมาตรการทางปกครองของ อย. ดังกล่าว จะสอดคล้องกับการที่ กสทช. ดำเนินการกับผู้รับใบอนุญาตผู้ประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี ตามแนวทางการกำกับดูแลการให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่
เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากมาตรการดังกล่าว อย. ยังได้จัดทำฐานข้อมูลการขออนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่และประชาชนได้เข้าถึงข้อมูล สามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลการขออนุญาตโฆษณาได้ ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ให้ผู้บริโภคสามารถใช้ตัดสินใจในการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างปลอดภัย คาดว่าจะสามารถเปิดให้ใช้ได้ภายในต้นปี 2559 นี้ หากผู้บริโภคสนใจข้อมูลการดำเนินงานของ อย. ในด้านต่าง ๆ สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ อย. (www.fda.moph.go.th)