อย.ย้ำซ้ำ !! อย่าหลงเชื่อโฆษณาเกินจริงทางสื่อสังคมออนไลน์ เตือน ดารา นักร้อง ระวังการโฆษณา หากเกินจริงเข้าข่ายผิดกฎหมาย ถูกดำเนินคดีด้วย
13 ตุลาคม 2559

          อย. เตือนภัยผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริงทางสื่อสังคมออนไลน์ พบหลายเว็บไซต์อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงจำนวนมาก โดยเฉพาะการโฆษณาแนะนำสินค้าของบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ดารา นักร้อง พบไม่น้อยที่โอ้อวดเกินความเป็นจริง แนะผู้บริโภคก่อนซื้อ ก่อนใช้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อ การได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน

          เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ โฆษก อย. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการตรวจสอบและเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคหลายรายเกี่ยวกับการโฆษณาทางสื่อออนไลน์ ล่าสุดพบบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ดารา นักร้อง โฆษณาแนะนำสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และ เครื่องสำอาง เข้าข่ายอวดอ้างสรรพคุณเกินความจริง ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยพบว่ามีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างสรรพคุณ ในทำนองว่า “ถูกใจวัยทำงาน ไม่มีเวลาออกกำลังกายก็ลดได้ #ท้าพิสูจน์ 10 วัน 2-5 โล สูตรดื้อยาสำหรับคนที่ไม่ชอบออกกำลังกาย #ขนมระเบิดไขมัน เห็นผลมากที่สุด รีวิวนับแสนดาราหลายท่านบอกอร่อย#ของแท้จากบริษัทอร่อยทานง่ายเพียง ฉีก เท อม เคี้ยว รับรองคุณจะตัวเล็กลงจนรู้สึกได้ อยากเปลี่ยนชีวิตคลิกเลย ทุกคนที่ใช้ คอนเฟิร์ม ลดนน. ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป”... เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์นี้ให้บุคคลที่มีชื่อเสียงมาโฆษณาหวังจะกระตุ้นยอดขาย ซึ่งข้อความโฆษณาเหล่านี้เป็นข้อความที่โอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภค หากนำไปใช้อาจไม่ได้ผล และ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ย้ำเตือนบุคคลที่มีชื่อเสียงทุกรายอย่าโฆษณาเกินขอบข่ายที่ อย.กำหนด หากฝ่าฝืน อย.จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

           ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานโดยตรง นอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักเพื่อเสริมสารบางอย่างและมีจุดมุ่งหมายสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติ ไม่ใช่ผู้ป่วย และไม่ควรให้เด็กและสตรีมีครรภ์รับประทาน แต่หากจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ก่อนตัดสินใจซื้อ ต้องตรวจสอบข้อมูลโฆษณาให้แน่ชัด และตรวจสอบข้อความ                 บนฉลาก ซึ่งต้องแสดงข้อความภาษาไทย ได้แก่ ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร 13 หลัก                          ในกรอบเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/ผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า (ในผลิตภัณฑ์นำเข้าต้องระบุประเทศผู้ผลิตด้วย) ส่วนประกอบสำคัญ วันเดือนปีที่ผลิต และ/หรือวันเดือนปีที่หมดอายุ             เป็นต้น และสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ภายนอก ไม่มีผลต่อโครงสร้างใด ๆ ของร่างกาย การเลือกซื้อควรซื้อเครื่องสำอางจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน                              เชื่อถือได้ เพราะหากมีปัญหาเกิดขึ้น สามารถติดต่อหาผู้รับผิดชอบได้ ควรเลือกซื้อเครื่องสำอาง              ที่มีฉลากภาษาไทย ซึ่งแสดงข้อความบังคับครบถ้วนชัดเจน เช่น ชื่อเครื่องสำอาง เลขที่ใบรับแจ้ง วิธีใช้ สารที่เป็นส่วนผสม เดือนปีที่ผลิต และ/หรือ เดือนปีที่หมดอายุ เป็นต้น อย่าซื้อเครื่องสำอางจากรถเร่ แผงลอย หรือผู้ขายเร่ขายตรง ที่อ้างว่าใช้ได้ผลหายภายใน 3 วัน 7 วัน สรรพคุณเหล่านี้ล้วนเป็นอันตรายทั้งสิ้น

          รองเลขาธิการ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า หากผู้บริโภคพบเห็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ขาย ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายหรือหากได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือ Email:1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะได้ดำเนินการปราบปรามดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง
ผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง
ประพนธ์ อางตระกูล