โครงการ อย.น้อย
29 มีนาคม 2566

โครงการ อย.น้อย


01 logo.png

02.png


โครงการ อย.น้อย

วันที่เผยแพร่ 13 มีนาคม 2555

ถือกำเนิดขึ้นในปี 2545 ในลักษณะโครงการนำร่อง แต่มีการดำเนินการอย่าง จริงจังในปี 2546 โดยมีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จัดตั้งชมรมคุ้มครองผู้บริโภคในโรงเรียน และทำกิจกรรม อย.น้อย จังหวัดละ 5 โรงเรียน จากนั้นในปี 2547 ได้ขยายกิจกรรม ให้ครอบคลุมโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ทั้งโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร รวม 10,256 โรงเรียน มีสมาชิกมากกว่า 1 ล้านคน

วัตถุประสงค์ในการทำโครงการ อย.น้อย ก็เพื่อให้นักเรียนมีการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงและได้ช่วยเหลือเพื่อน ๆ ครอบครัว และชุมชน ด้วยการให้ความรู้การบริโภคอย่างเหมาะสม ปลอดภัยกิจกรรมที่ อย.น้อย ทำ ได้แก่ การตรวจสอบอาหารที่จำหน่ายภายใน/รอบๆ โรงเรียนและตลาดสดหรือชุมชนใกล้เคียง ด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น เช่น ชุดทดสอบบอแรกซ์ ฟอร์มาลิน สารกันรา สารฟอกขาว จุลินทรีย์ในน้ำ เป็นต้น การให้ความรู้แก่เพื่อนนักเรียนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น บอร์ดความรู้ เสียงตามสาย พูดหน้าเสาธง กิจกรรมการแสดง รายการทางโทรทัศน์วงจรปิด เป็นต้น การรณรงค์ให้ความรู้ในชุมชน เช่น การเดินรณรงค์ การแจกเอกสารความรู้ การให้ความรู้ทางหอกระจายข่าวหรือวิทยุชุมชน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการความรู้ด้านอาหารและยาเข้าไปกับหลักสูตรการเรียนการสอน และอย.น้อย ยังเอื้ออาทรไปยังโรงเรียน ระดับประถมศึกษาที่อยู่ใกล้เคียง ด้วยการไปให้ความรู้และการตรวจสอบอาหารให้ด้วย ในลักษณะ “พี่สอนน้อง” การทำกิจกรรม นอกจาก อย.น้อย จะได้รับความรู้ด้านการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างถูกต้องและปลอดภัยแล้วยังช่วยให้เพื่อนนักเรียน และครอบครัวมีความรู้ และเกิดการพัฒนาปรับปรุงการจำหน่ายอาหารภายในโรงเรียน รวมทั้งการปรับปรุงสถานที่จำหน่ายอาหารให้สะอาดถูกสุขลักษณะ นักเรียน อย.น้อย ยังได้รับการพัฒนาเรื่องการคิด การวางแผนการทำงาน การแสดงออกและการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน อย.น้อย โรงเรียนอื่น ๆ ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายขึ้น กิจกรรม อย.น้อย ยังก่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีในระดับชุมชน เช่น เกิดความร่วมมือระหว่างนักเรียน ครู พ่อค้า แม่ค้า อสม. อบต. โรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอ เป็นต้น มีการช่วยเหลือกันทั้งด้านงบประมาณ การร่วมดำเนินงาน และทรัพยากร เช่น งบสนับสนุนจาก อบต. การร่วมตรวจสอบอาหาร การอนุญาตให้ใช้หอกระจายข่าว/วิทยุชุมชน เป็นต้น