กว่าจะมาเป็น กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค

ในปี พ.ศ. 2517 เมื่อมีการก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยางานด้านเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคก็ได้เติบโตขึ้นเป็นกองเผยแพร่และควบคุมการโฆษณาโดยแบ่งเป็นงานเผยแพร่และงานควบคุมการโฆษณาในช่วงแรกจะเป็นการเขียนบทความเผยแพร่เพื่อแจกแก่ผู้สนใจและจัดทำบทวิทยุส่งเผยแพร่เพียงไม่กี่สถานี

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมากองเผยแพร่ฯ มีการเพิ่มกิจกรรมการเผยแพร่ความรู้ โดยการออกบรรยายและจัดนิทรรศการในสถานศึกษาทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศมีการจัดทำเอกสารเผยแพร่แจกในรูปแบบบทความแผ่นพับและโปสเตอร์รวมทั้งการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนในรูปแบบบทความทางวิทยุกระจายเสียง สไลด์ประกอบเสียงความยาว 2 นาที ออกเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 7 และ 9 ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ภายใน มีการจัดทำ “จุลสารสัมพันธ์ อย.” ขึ้นตั้งแต่ปี 2523 เป็นจุลสารรายเดือน โดยเริ่มแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเอกสารประชาสัมพันธ์ภายในเป็นหลักเผยแพร่ความรู้ข่าวสารและให้ความบันเทิงแก่บุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อรายงานกิจกรรมความเคลื่อนไหวเป็นสื่อกลางในการแสดงความคิดเห็นของบุคลากรในหน่วยงานและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทุกระดับ

ปี พ.ศ. 2528 ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตามแผนพัฒนากรอบอัตรากำลังรอบแรกที่สำนักงานก.พ.กำหนดโดยกรอบเผยแพร่และควบคุมการโฆษณามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเผยแพร่ประกอบด้วย 3 งานคือ งานเผยแพร่ งานประชาสัมพันธ์ งานโสตทัศนูปกรณ์และฝ่ายควบคุมการโฆษณา ประกอบด้วย 2 งาน คือ งานควบคุมการโฆษณา และงานตรวจสอบการโฆษณาในด้านการดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์มีการดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ หลายรูปแบบขึ้น และครอบคลุมขึ้น

ในปี พ.ศ. 2530 การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ทางสื่อต่าง ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อโทรทัศน์ เริ่มจากรายการ “อาหารและยาน่ารู้” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ซึ่งต่อมาในปี 2533 ได้มีการเผยแพร่ซ้ำ (Re-run) ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. ด้วย

ปี พ.ศ. 2534 กองเผยแพร่และควบคุมการโฆษณา ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์สังข์เงิน ประจำปี 2533 สาขาส่งเสริมคุณภาพชีวิตจากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทยจากผลงานด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และการสร้างภาพลักษณ์องค์กร

ปี พ.ศ. 2538 ถือว่าเป็นช่วงที่ อย. มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทางสื่อมวลชนอย่างเต็มที่ ทั้งรายการประจำหรือช่วงรายการของตนเองทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ เช่น ช่วง “ทางเลือกทางรอด” ในรายการเกษตรสแควร์ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5ช่วงหนึ่งในรายการ“ก้าวทันโรค” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และจัดทำละครสั้นแนวหรรษาแทรกสาระ ชุด “สวรรค์บ้านนา” เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่โฆษณาสั้น (spot) ทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่น สปอตเกี่ยวกับอันตรายของที่นอนแม่เหล็ก เป็นการจุดประกายให้หน่วยงานอื่น ๆ ในกระทรวงสาธารณสุข เริ่มรณรงค์ความรู้ โดยวิธีการเผยแพร่โฆษณาสั้นบ้าง ในปีนี้ยังได้เริ่มเปิดบริการโครงการสายด่วนผู้บริโภค กับ อย. ซึ่งเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถโทรศัพท์เข้ามารับฟังข้อมูลที่ต้องการในระบบ audio text โดยใช้โทรศัพท์ระบบอัตโนมัติ

ในปี พ.ศ. 2538 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคและการส่งเสริมให้ผู้บริโภครู้จักพิทักษ์สิทธิของตนเองมีการมอบหมายงานด้านการพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค และงานรับเรื่องร้องเรียนให้กองเผยแพร่และควบคุมการโฆษณารับผิดชอบ ในปีเดียวกันนี้ ยังได้เริ่มการประชาสัมพันธ์ภายในโดยใช้ระบบเสียงตามสายขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อสื่อข่าวสารต่าง ๆให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทราบทั่วกันอย่างรวดเร็ว

ปี พ.ศ. 2539 เป็นปีที่เริ่มโครงการพัฒนาพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม โดยการดำเนินการโครงการอ่านฉลากก่อนซื้อ ซึ่งเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการอ่านฉลาก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีการอ่านฉลากก่อนซื้อและก่อนบริโภคโครงการนี้ได้วางแผนเป็นโครงการต่อเนื่อง 5 ปี (2539 - 2543) ซึ่งก็ได้มีการดำเนินการต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จ จนเป็นต้นแบบของโครงการรณรงค์พัฒนาด้านอื่น ๆ ในระยะต่อมา ทั้งรูปแบบของสื่อพิมพ์ สื่อเผยแพร่ทางสื่อมวลชนในลักษณะของสปอตโฆษณา การสร้างสัญลักษณ์ตัวแทนโครงการ คำขวัญโครงการ เพลงโครงการ และการมีกิจกรรมมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งมีการประเมินผลอย่างชัดเจน โครงการนี้เป็นโครงการแรกที่ใช้การประกวดราคาจ้างหน่วยงานเอกชนที่มีความชำนาญงานด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ นอกจากการพัฒนาพฤติกรรรมผู้บริโภคแล้ว ในปีนี้ยังได้พัฒนา ระบบการบริการข้อมูลอัตโนมัติทางโทรศัพท์ สายด่วนผู้บริโภคกับ อย. เป็นสายด่วนผู้บริโภคกับ อย. 1556 โดยเปิดบริการเลขหมายโทรศัพท์ 4 ตัว 1556 และเพิ่มระบบฝากข้อความร้องเรียน 24 ชั่วโมง

ปี พ.ศ. 2540 เริ่มดำเนินการโครงการเสริมสร้างความตื่นตัวในการปกป้องสิทธิผู้บริโภค โดยเป็นโครงการประชาสัมพันธ์ช่องทางร้องเรียนและสร้างความตระหนักให้ผู้บริโภคในการคุ้มครองตนเองครอบครัวและสังคม โดยใช้การสื่อสารผ่านสื่อมวลชนเป็นหลักในปีแรก และมีการเพิ่มการจัดกิจกรรมเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเพิ่มเติมในปีต่อมา โครงการนี้มีการดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปี 2546

ปี พ.ศ. 2540 นี้ งานและบุคลากรด้านการกำกับดูแลการโฆษณาต้องโอนย้ายไปอยู่กองผลิตภัณฑ์ งานหลักของกองเผยแพร่และควบคุมการโฆษณาจึงคงมีเพียงงานด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และพัฒนาพฤติกรรมการบริโภค

ปี พ.ศ. 2541 เริ่มโครงการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ที่มีการซื้อเนื้อที่โฆษณาทางหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้เข้าถึงประชาชนในลักษณะรูปแบบที่น่าสนใจเนื้อหาของข้อมูลที่เป็นการแจ้งผลการดำเนินคดีผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อมูลที่เป็นงานเด่นหรือเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาในการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อย. ต้องการแจ้งเตือนหรือให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคให้เลือกซื้อและบริโภคอย่างปลอดภัยโครงการพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคอีกโครงการที่มีการดำเนินการต่อเนื่องถึง3ปี(2542 - 2544)คือโครงการรณรงค์อ่านฉลากโภชนาการ ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนการดำเนินการของกองควบคุมอาหารที่มีการออกประกาศการแสดงข้อมูลโภชนาการบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารโครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือนักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาเพื่อเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ใส่ใจกับสุขภาพและการอ่านฉลากโภชนาการ

ปี พ.ศ. 2545 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญตามการปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงมีการปรับเปลี่ยนชื่อจาก กองเผยแพร่และควบคุมการโฆษณา เป็น กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค

ปี พ.ศ. 2546 โครงการของกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคที่ดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้ ได้แก่ โครงการรณรงค์ความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร โครงการเสริมสร้างความตื่นตัวในการปกป้องสิทธิผู้บริโภค โครงการสายด่วนผู้บริโภคกับ อย. 1556 โครงการประชาสัมพันธ์เชิงรุก โครงการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อมวลชน โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคซึ่งทุกโครงการมีการประเมินผลการดำเนินการอย่างชัดเจนสำหรับโครงการที่เพิ่มขึ้นในปีที่สำคัญคือโครงการ อย.น้อย ซึ่งในการเริ่มต้นโครงการใช้ชื่อว่า โครงการความปลอดภัยด้านอาหารในโรงเรียน เพื่อให้กลุ่มเยาวชนในโรงเรียนมัธยมศึกษามีความตื่นตัวในการดูแลตนเอง ครอบครัว และสังคมให้บริโภคอาหารที่มีความปลอดภัยโครงการนี้เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ คือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)และยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกรมอนามัย ตามแผนงานโครงการมีการจัดประกวดกิจกรรม อย.น้อย ของโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งมีการดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันโดยมีการพัฒนารูปแบบการจัดการประกวดมาอย่างต่อเนื่อง

ปี พ.ศ. 2547 โครงการพัฒนาศักยภาพที่ดำเนินการเพิ่มเติมในปีนี้ ได้แก่ โครงการอย่าหลงเชื่อง่าย ที่พัฒนาจากโครงการเสริมสร้างความตื่นตัวในการปกป้องสิทธิผู้บริโภค โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือการปลุกกระแสให้ผู้บริโภคตระหนักถึงอันตรายและผลเสียที่จะเกิดจากการหลงเชื่อการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพหลอกลวง (โครงการนี้ดำเนินการมาจนถึงปี พ.ศ. 2559)

ปี พ.ศ. 2549 เนื่องจากสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นที่นิยมมากขึ้น ประกอบด้วยงบประมาณเพื่อการเผยแพร่ความรู้ตามโครงการเผยแพร่ความรู้ทางสื่อมวลชน เริ่มลดน้อยลงทุกปี กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค ต้องเริ่มมองหาสื่อใหม่ ๆ ที่ราคาไม่สูงมาก จึงทำให้เกิดเว็บไซต์ www.oryor.com ให้บริการตั้งแต่เดือนมกราคม 2549 โดยเน้นการเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบมัลติมิเดีย ที่มีความทันสมัย สดใส สนุกสนาน และยังเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อการค้นคว้าหาความรู้ด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์สุขภาพในระยะเริ่มต้นได้สร้างชุดโปรแกรมรวม 8 เมนู และมีการเพิ่มเติมเมนูใหม่ๆ ทุกปี รวมทั้งพัฒนารูปแบบให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน จึงกล่าวได้ว่า www.oryor.com เป็น Website แรกของหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นรูปแบบมัลติมิเดียที่ทันสมัยนอกจากงานการเผยแพร่ผ่านสื่อที่ทันสมัยแล้ว กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคยังเพิ่มกิจกรรมสร้างเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค มีการเปิดช่องทางการร้องเรียนแจ้งข้อมูลทางเว็บไซต์ผ่าน E-mail :1556@fda.moph.go.th ขณะเดียวกันกับงานด้านประชาสัมพันธ์ก็เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินงาน และมีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ปี พ.ศ. 2550 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาร่วมทำพัฒนาระบบราชการ โดยแต่งตั้งคณะทำงานภาคประชาชนเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชน เข้ามาทำงานร่วมกันในการพัฒนางานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาซึ่งคณะทำงานฯได้คัดเลือกการแก้ไขปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้องขึ้นมาเป็นประเด็นดำเนินการในปี พ.ศ.2550และต่อเนื่องในปี พ.ศ.2551 โครงการ อย.น้อย ในปี พ.ศ. 2550 นี้ มีการสนับสนุนให้มีการสร้างกิจกรรมของ อย.น้อย ในลักษณะเครือข่ายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการจัดกิจกรรม “อย.น้อยสอนน้อง”ที่ทำให้เกิดการเอื้ออาทรโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ และการสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน กิจกรรม อย.น้อย ก็ทำให้เกิดเครือข่ายการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารเพิ่มขึ้น

ช่วงปี พ.ศ.2550 – ปัจจุบัน กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคได้มีการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาพฤติกรรมผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ โดยกิจกรรม/โครงการที่ผ่านมา เช่น โครงการอาหารปลอดภัย, โครงการอย่าหลงเชื่อง่าย,โครงการชั่งใจก่อนใช้ยา,โครงการฉันดี มีสุข, โครงการจิตอาสาสร้างสรรค์ อย.สร้างเสริม, วารสาร Smart life by อย., โครงการอ่านฉลากก่อนใช้ ต้านภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ ได้ส่งผลงานการดำเนินงานสู่เวทีภายนอก จนได้รับรางวัลมาแล้วอย่างต่อเนื่อง เช่น รางวัลเชิดชูเกียรติกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” ประจำปี พ.ศ. 2557 ประเภทโครงการของหน่วยงานราชการ Oryor Smart Application ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของ อย. และเป็น Application แรกของกระทรวงสาธารณสุข, รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2560 สาขาบริการภาครัฐ ประเภทการพัฒนาการบริการระดับดีเด่น จากสำนักงาน ก.พ.ร. ชื่อผลงาน “การพัฒนารูปแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น”. รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2562 สาขาบริการภาครัฐ ประเภทการพัฒนาการบริการ ระดับดี จากสำนักงาน ก.พ.ร. ด้วยผลงานจาก แคมเปญ เช็ก ชัวร์ แชร์ ส่งต่อความรู้และข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริโภคเพื่อดูแลสุขภาพและรักษาโรค

ปี พ.ศ. 2560 ได้มีการริเริ่มโครงการใหม่ ได้แก่ โครงการชุมชนสุขภาพดี โดยมีชื่อย่อว่า บวร.ร. ซึ่งย่อมาจากเครือข่าย บ้าน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล (รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลด้วย) โดยเครือข่ายดังกล่าวถือเป็นผู้นำทางความคิดที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมการแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชนนั้น ๆ ซึ่งปีต่อมา (พ.ศ. 2561) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น เครือข่ายชุมชนร่วมใจ ป้องกันภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ และในปี พ.ศ. 2566 มีการคัดเลือก Best Practice บวร.ร. และ Best Practice อย.น้อย ซึ่งเป็นจังหวัดผู้แทนเขตสุขภาพ จากนั้นคัดเลือกเป็น Best of the Best ของ บวร.ร. และ อย.น้อย


เรียงชื่อ ผู้อำนวยการฯ ตั้งแต่ก่อตั้งกองฯ จนถึงปัจจุบัน

22.jpg



ป้าย อย..jpg