สเปรย์ระงับกลิ่นปาก ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือ ?
3 พฤษภาคม 2566

หลังจากที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดมาพักใหญ่ ทำให้ความใส่ใจต่อสุขภาพของผู้บริโภคยิ่งมีมากขึ้น จึงเลือกหาผลิตภัณฑ์ที่สามารถป้องกัน รักษา อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ มาไว้ใกล้ตัว จนบางครั้งพบเห็นการโฆษณาอวดอ้างประโยชน์ต่าง ๆ อาจหลงเชื่อและซื้อมาทดลองใช้แบบไม่ทันคิด เช่น “สเปรย์ระงับกลิ่นปาก”
          สเปรย์ระงับกลิ่นปากเป็นยาหรือไม่ ?
          ตอบ ไม่ใช่ยา สเปรย์ระงับกลิ่นปากจัดเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอางสำหรับช่องปาก เช่นเดียวกับยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก ใช้ฉีดพ่นเข้าในช่องปากเพื่อระงับกลิ่นปาก ให้ความรู้สึกหอมสดชื่นจากส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหย จึงไม่มีผลต่อการฆ่าเชื้อ ป้องกัน หรือรักษาโรค แต่บางครั้งอาจสื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่ามีพืชสมุนไพรหรือส่วนประกอบบางอย่างที่สามารถป้องกันและลดความรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ จึงไม่ควรหลงเชื่อ

รู้ได้อย่างไร “สเปรย์ระงับกลิ่นปาก” ยี่ห้อไหนโฆษณาเกินจริง ?
         
ตอบ โฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับช่องปาก ต้องสื่อถึงสรรพคุณหลักในการทำความสะอาด และส่งเสริมสุขอนามัยในช่องปากและฟัน ถึงแม้การโฆษณาเครื่องสำอางจะไม่มีเลขที่โฆษณาให้ผู้บริโภคสังเกต เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้สามารถทำการโฆษณาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่หากพบการโฆษณาด้วยถ้อยคำหรือภาพที่สื่อให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบของเหงือกและฟัน บรรเทาอาการเจ็บคอ กันเชื้อลงปอด เป็นต้น ข้อความเหล่านี้ถือว่าเข้าข่ายโฆษณาโอ้อวด หลอกลวง เกินจริง

สเปรย์ระงับกลิ่นปากที่มีส่วนผสมของสมุนไพร ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จริงไหม ?
          ตอบ อย. ไม่รับจดแจ้งสเปรย์ระงับกลิ่นปากที่แสดงสรรพคุณในการต้านหรือป้องกันเชื้อโควิด-19 เพราะเครื่องสำอางไม่มีผลในการฆ่าหรือยับยั้งเชื้อโรคแต่อย่างใด ดังนั้นการที่มีผลิตภัณฑ์สเปรย์ระงับกลิ่นปากว่าสามารถฆ่ายับยั้ง ป้องกัน รักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ จึงไม่เป็นความจริง หากซื้อมาใช้จะเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองโดยเปล่าประโยชน์ รวมทั้งเสียโอกาสในการรักษาให้หายขาดแต่เนิ่น ๆ

ทั้งนี้หากต้องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สเปรย์ระงับกลิ่นปาก ควรตรวจดูเลขที่ใบรับจดแจ้ง โดยจะแสดงเป็นตัวเลข 10 หรือ 13 หลัก เช่น xx-x-xxxxxxx เป็นต้น และหากพบว่ามีการโฆษณาในด้านการรักษาโรค ไม่ควรเสี่ยงซื้อมาใช้


ข้อมูลอ้างอิง 

https://oryor.com/media/newsUpdate/media_news/2262
https://www.fda.moph.go.th/sites/Cosmetic/SharedDocuments/งานโฆษณา/คู่มือแนวทางการโฆษณาเครื่องสำอางPart INDEX.pdf

https://bcp.nbtc.go.th/th/detail/2017-01-25-12-03-42
ข่าวสเปรย์ระงับกลิ่นปากฆ่าเชื้อ.pdf (moph.go.th)
เตือน! พบสเปรย์พ่นคอ และยาฟ้าทะลายโจร ผิดกฎหมาย อย. - TCC

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAfakenews
oryor
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
อย.
สาระความรู้
สเปรย์ระงับกลิ่นปาก
โควิด-19
ฆ่าเชื้อโควิด
โฆษณาเกินจริง
เลขที่ใบรับแจ้ง
เลขที่จดแจ้ง