เนื่องจากมีการแชร์ข้อความผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ว่าห้ามดื่มน้ำจากขวดน้ำดื่มพลาสติกที่เก็บในรถยนต์ที่จอดตากแดด หรือที่ถูกวางตากแดดไว้เป็นระยะเวลานาน เพราะความร้อนจะทำให้สารเคมีอันตรายที่อยู่ในขวดพลาสติก เช่น สารไดออกซิน (Dioxin) สารบีสฟีนอลเอ (Bisphenol A หรือ BPA) และสารทาเลต (Phthalate) ละลายออกมาปนเปื้อนในน้ำดื่มเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ส่งผลต่อความผิดปกติของพันธุกรรม ทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งได้ จะจริงหรือไม่ วันนี้มาติดตามกัน
ในความเป็นจริงแล้วในการผลิตขวดน้ำดื่มพลาสติกทั้งชนิดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene terephthalate; PET) พอลิพรอพิลีน (Polypropylene; PP) และพอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate; PC) ไม่ได้มีการใช้สารไดออกซินและสารทาเลต ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสปนเปื้อนสารพิษเหล่านี้ สำหรับสารบีสฟีนอลเอ ถึงแม้ว่าจะมีการใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชนิดพอลิคาร์บอเนต (polycarbonate; PC) แต่ อย. มีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานของภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากพลาสติกชนิดต่าง ๆ ไว้แล้ว ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 435) พ.ศ. 2565 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก ที่จำเป็นต้องตรวจวิเคราะห์ด้านความปลอดภัย เช่น ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ไม่มีสีออกมาปนเปื้อนกับอาหาร ควบคุมปริมาณการแพร่กระจายของโลหะหนัก ควบคุมปริมาณการแพร่กระจายของสารตั้งต้นและสารที่ใช้ในการผลิตพลาสติก เป็นต้น ซึ่งผู้ผลิตน้ำบริโภคบรรจุขวด ต้องใช้ภาชนะบรรจุที่มีคุณภาพหรือมาตรฐานเป็นไปตามที่ประกาศกำหนด
อีกทั้ง ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการตรวจพบสารไดออกซินในพลาสติก และยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าในที่อุณหภูมิสูงนั้นสารเคมีต่าง ๆ ที่ละลายออกมาจากขวดพลาสติกจะทำปฏิกิริยาจนเกิดเป็นสารไดออกซินได้ ที่ผ่านมาพบเพียงบางงานวิจัยเท่านั้นที่พบว่าขวดน้ำดื่มพลาสติกที่ตั้งไว้ในที่อุณหภูมิสูงเกิน 60 องศาเซลเซียส นานเป็นเวลาเกิน 11 เดือน จะทำให้สารทาเลต ละลายออกมาเกินมาตรฐานที่อียู(EU) กำหนดไว้ สรุปดื่มน้ำจากขวดพลาสติกที่วางตากแดดไว้เป็นเวลานาน ทำให้เกิดเป็นมะเร็ง ไม่เป็นความจริง ดังนั้นผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าการดื่มน้ำจากขวดน้ำดื่มพลาสติกที่เก็บในรถยนต์ที่จอดตากแดด หรือที่ถูกวางตากแดดไว้เป็นระยะเวลานานนั้นไม่ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ต่อร่างกาย