
เป็นวัคซีนป้องกันปอดบวม และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยโรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease) คือ การติดเชื้อนิวโมคอคคัสแบบรุนแรง และแพร่กระจายไปยังบริเวณต่าง ๆ ได้แก่ การติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง มักพบในทารกและเด็กเล็ก อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักจนถึงชีวิตได้ หรือเกิดความพิการตามมาได้ เชื้อนิวโมคอคคัสเข้าสู่ร่างกายทางบริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจ ผู้ที่มีเชื้อสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ทางละอองเสมหะ หรือน้ำมูก เชื้อจะเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เชื้ออาจแพร่กระจายไปเยื่อหุ้มสมองทำให้มีภาวะสมองอักเสบ หรือไปที่อวัยวะอื่น เช่น กระดูก และข้อ ทำให้มีภาวะกระดูก และข้ออักเสบก็ได้
อาการของโรคไอพีดี เบื้องต้นคล้ายไข้หวัด มีไข้สูง งอแง เซื่องซึม ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ในเด็กเล็กอาจไม่ยอมกินนม และเมื่อมีการติดเชื้อรุนแรงขึ้นทั้งทางเดินหายใจส่วนบนถึงส่วนล่าง อาจพบการติดเชื้อในระบบประสาทและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จนทำให้เกิดความพิการทางระบบประสาทและการได้ยิน ติดเชื้อในเลือดและกระดูก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในเวลา 2-3 วัน
โดยทั่วไป เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไอพีดีมากกว่าผู้ใหญ่ และเด็กยังเป็นพาหะของเชื้อได้นานกว่าผู้ใหญ่อีกด้วย ปัจจุบัน มีวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี 2 ชนิด คือ
1. วัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ ประกอบด้วยเชื้อนิวโมคอคคัสวัคซีน จำนวน 23 สายพันธุ์ วัคซีนนี้ใช้เฉพาะกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคนี้ และ ผู้สูงอายุเท่านั้น
2. คอนจูเกตวัคซีน ประกอบด้วยเชื้อนิวโมคอคคัส จำนวน 7 สายพันธุ์ พ่วงกับโปรตีนทำให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีในเด็กต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งจะครอบคลุมเชื้อไอพีดีในเด็กไทยได้ร้อยละ 70
- เด็กอายุน้อยกว่า1 ปี ให้ฉีด เมื่ออายุ 2, 4, 6 และ booster 12-15 เดือน
- เด็กอายุ 7-11 เดือน ให้ฉีด 2 ครั้งห่างกัน 2 เดือน และ booster 12-15 เดือน
- เด็กอายุ 1-5 ปี ฉีดครั้งเดียว ยกเว้นเด็กภูมิคุ้มกันต่ำให้ฉีด 2 ครั้งห่างกัน 2 เดือน
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน อาจมีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดยา อาจพบอาการไข้และ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้บ้าง นอกจากนี้การป้องกันโรคไอพีดีที่สามารถช่วยได้เพิ่มเติม คือ การทำร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง เด็กเล็กควรกินนมแม่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด เมื่อเริ่มเจ็บป่วย ควรรีบไปพบแพทย์
เนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคไอพีดีในเด็กไทย มีน้อยกว่าในต่างประเทศมาก ผู้ปกครองควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของวัคซีนนี้ หากเป็นเด็กที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคไอพีดี ได้แก่ เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กที่มีภาวะภูมิแพ้ทางเดินหายใจ และป่วยบ่อย ทำให้มีโอกาสติดเชื้อชนิดนี้ได้สูง ควรพิจารณาให้วัคซีนนี้ แต่หากเป็นเด็กปกติ ความจำเป็นไม่มากนัก ถือเป็นวัคซีนทางเลือกแล้วแต่ความประสงค์ของผู้ปกครอง