
ถ้าเอ่ยถึง “มะเร็ง” หลายคนอาจจะตื่นกลัวกับโรคนี้ จนสนใจหาสารพัดวิธีหลีกเลี่ยงการเกิดโรค แต่อาจจะได้ข้อมูลมาผิด ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ของการเกิดโรคที่เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ คือ พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค และหากเราหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้ได้มากพอ ก็จะช่วยป้องกันโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นกับเราได้
ก่อนอื่นมาดูสิ่งที่ผู้คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคมะเร็ง เช่น
- มะเร็งเป็นโรคติดต่อ : โรคมะเร็งไม่ใช่โรคติดเชื้อ จึงไม่สามารถแพร่กระจายสู่กันได้ แต่โรคมะเร็งบางชนิดมีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมร่วมด้วย ดังนั้นผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งก็จะมีโอกาสเป็นสูงกว่าคนทั่วไป
- มะเร็งสามารถรักษาให้หายด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร : ไม่มีงานวิจัยรองรับว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยในการรักษาโรคมะเร็งและ อย. ไม่เคยอนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีฤทธิ์รักษาโรคมะเร็ง หากมีผลิตภัณฑ์ใดโฆษณาโอ้อวดเกินจริงว่ารักษาได้ จะถือว่าทำผิดตามกฎหมาย
- คลื่นสัญญาณจากมือถือทำให้เกิดโรคมะเร็ง ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาน่าเชื่อถือรองรับว่าเกิดขึ้นได้ อีกทั้งคลื่นพลังงานที่มือถือปล่อยออกมาเป็นรูปแบบที่มีพลังงานไม่มากพอที่จะมีผลก่อเกิดมะเร็ง
- ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นกายทำให้เป็นมะเร็งเต้านม ในการศึกษายังไม่พบว่าสารเคมีในผลิตภัณฑ์จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อของเต้านม
พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง ซึ่งผ่านการวิจัยมาแล้วว่าก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
1. รับประทานสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่ม
- สารพิษจากเชื้อราอัลฟาทอกซิน (Alfatoxin) จะปนเปื้อนในอาหารแห้งพวกพริกป่น ถั่วลิสงบด หรือกุ้งแห้ง จึงควรเลือกอาหารแห้งที่สดใหม่ไม่เหม็นอับ
- ไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) จากอาหารประเภท ปิ้ง ย่าง
- ไนโตรซามิน (Nitosamine) สารเคมีที่ใช้ในการถนอมอาหารประเภทเนื้อสัตว์หมักดอง
2. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งช่องปาก หลอดอาหารและตับ
3.สูบบุหรี่ เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งของระบบหายใจ ได้แก่ ปอด และกล่องเสียง
4. ตากแดดเป็นเวลานาน เพราะรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ มีผลทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้
5. สูดควันพิษทางอากาศที่มีสารก่อมะเร็งมาจากควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเกษตรต่างๆ
เพียงแค่ทุกคนหันมาใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น ทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนี้ ก็จะช่วยให้เราห่างไกลกับเจ้ามะเร็งร้ายมากขึ้น