โรคพิษสุนัขบ้า อันตรายถึงชีวิต แต่ป้องกันได้
16 พฤศจิกายน 2561

โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ (Rabies Virus) เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในฤดูร้อนเท่านั้น การติดต่อโรคจะผ่านทางน้ำลายของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นการกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล และถือเป็นโรคร้ายแรง เพราะหากอาการของโรคเริ่มแสดงแล้วไม่ว่าจะมนุษย์หรือสัตว์ก็มักจะเสียชีวิต สัตว์นำโรค ไม่ใช่แค่สุนัขหรือแมวเท่านั้น แต่รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า

โรคพิษสุนัขบ้าในปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายได้ แต่สามารถควบคุมและป้องกันได้ ดังนั้นความเชื่อที่ว่าเมื่อถูกสุนัขกัดต้องใช้รองเท้าตบแผล สมุนไพรยัดแผล หรือรดน้ำมนต์จะช่วยรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ เป็นความเข้าใจผิดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

การป้องกันการติดเชื้อ 3 ขั้นตอน

ขั้นที่ 1  เป็นการป้องกันที่ดีที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้สัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

-          เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ครั้งแรกตอนอายุ 2-4 เดือนแล้วฉีดซ้ำตามกำหนดนัดทุกปี

ขั้นที่ 2   การหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสัตว์กัด

-          เจ้าของดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ให้ไปกัดหรือทำร้ายคนอื่น ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง

-          ลดความเสี่ยงถูกกัดหรือทำร้าย โดยไม่ไปแหย่ให้โมโห ไม่ไปทำให้ตกใจ หรือไม่ควรเข้าใกล้กับสัตว์ต่าง ๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ

ขั้นที่ 3  ป้องกันการติดเชื้อหากถูกสัตว์กัด

1. ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆครั้ง และใส่ยาฆ่าเชื้อที่แผล

2. กักสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการ 10 วัน โดยอาการน่าสงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือ มีอาการ หางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง พฤติกรรมเปลี่ยนอาจจะก้าวร้าว หรือเซื่องซึมก็ได้

3. รีบพบแพทย์โดยทันทีหลังโดนกัด เพื่อรับการวินิจฉัยรับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงยาอื่น ๆ เราอาจไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในกรณีที่สัมผัสสัตว์ (ถูกเลียหรือโดนน้ำลาย) บริเวณผิวหนังที่ไม่มีแผลหรือรอยถลอก แต่ต้องฉีดวัคซีนในกรณีเหล่านี้

-          ถูกงับหรือข่วนเป็นรอยช้ำที่ผิวหนัง ไม่มีเลือดออกหรือออกซิบ ๆ

-          น้ำลายถูกเยื่อบุตา ปาก จมูกหรือแผลตามผิวหนัง

-          ถูกกัดหรือข่วนเป็นแผล (แผลเดียวหรือหลายแผล) และมีเลือดออก

ทั้งนี้หากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ควรไปตามนัดให้ครบทุกครั้ง เพื่อผลการป้องกันเชื้อที่ดีที่สุด

 

เอกสารอ้างอิง

 

http://r36.ddc.moph.go.th/r36/content/index/1

https://news.thaipbs.or.th/content/270686

http://r36.ddc.moph.go.th/r36/uploads/document/584adb73e3d0f.pdf

http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/12/โรคพิษสุนัขบ้า-การป้องกัน/

http://www.cfsph.iastate.edu/FastFacts/th/rabies.pdf

 

ถูกกัดรีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบ

แท็กที่เกี่ยวข้อง
สุขภาพ
รักษาโรค
อย.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง