ยารักษาไข้มาลาเรียและผลิตภัณฑ์ทากันยุง
12 เมษายน 2566

       แม้การเจ็บป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรียจะมีให้พบเห็นไม่มากเท่าแต่ก่อน แต่หากเกิดการติดเชื้อแล้วอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ยารักษาไข้มาลาเรียจึงเป็นสิ่งสำคัญที่แพทย์เลือกใช้ เพราะช่วยให้เชื้อมาลาเรียหมดไปจากกระแสเลือด และป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรง ยารักษาไข้มาลาเรียมีหลายชนิด เช่น คลอโรควิน (Chloroquine) , ไพรมาควิน (Primaquine) , ควินิน (Quinine) , เมโฟลควิน (Mefloquine) , อาร์ติซูเนท (Artesunate) , ด๊อกซีซัยคลิน (Doxycycline) และ เตตราซัยคลิน (Tetracycline)

      ปัจจุบันไม่แนะนำให้กินยาป้องกันมาลาเรีย เนื่องจากไม่ได้ผลมากนักและอาจทำให้เชื้อดื้อยา การซื้อยารักษาด้วยตนเองหรือกินยาไม่ครบ อาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ แนะนำให้สังเกตดูอาการ หากพบว่ามีไข้หรืออาการที่สงสัยว่าเป็นไข้มาลาเรียภายใน 1-2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน หลังจากเดินทางกลับจากเขตที่มีการระบาดของเชื้อมาลาเรีย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อ

              วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตนเองจากไข้มาลาเรีย คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด ได้แก่

1. ใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายมิดชิด

2. นอนในมุ้งหรือในเต็นท์ที่กันยุง

3. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกชนิด เช่น บริเวณน้ำกักขัง เป็นต้น 

4. หลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง เช่น การเดินป่า ตั้งแคมป์ หรือ ท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีแหล่งน้ำ

5. การใช้ผลิตภัณฑ์ทาป้องกันยุง มี 2 แบบ คือ

   5.1 ผลิตภัณฑ์ทากันยุงที่มีสารเคมีเป็นสารออกฤทธิ์ไล่ยุง ได้แก่ ดีอีอีที (DEET), เอทิลบิวทิลอะซีทีลอะมิโนโพรไพโอเนต (Ethyl butylacetyl aminopropionate) และ อิคาริดิน (Icaridin) ซึ่งต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. ดังนั้นควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ฉลากมีการแสดงเลขทะเบียน อย.วอส. ในกรอบเครื่องหมาย อย.

   5.2 ผลิตภัณฑ์ทากันยุงที่มีน้ำมันตะไคร้หอมหรือ Citronella oil เป็นสารออกฤทธิ์ ไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนแต่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่อ อย. จึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการแสดงเลขที่รับแจ้งบนฉลาก

       ผลิตภัณฑ์ทากันยุงส่วนใหญ่ ห้ามใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี ควรใช้เฉพาะที่และใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ก่อนใช้ควรทดสอบการแพ้โดยการทาหรือพ่นที่บริเวณท้องแขนเพื่อทดสอบการแพ้ก่อนใช้ หลีกเลี่ยงการทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น บริเวณใกล้ตา ริมฝีปาก เปลือกตา รักแร้ หรือทาบริเวณแผล ควรอ่านฉลากพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด และล้างมือทุกครั้งหลังใช้ผลิตภัณฑ์


ข้อมูลอ้างอิง 

https://www.doctor.or.th/doctorme/medicine/12565
https://www.pidst.or.th/A663.html
https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/qa_full.php?id=1013
“โรคมาลาเรีย” ระบาดหนักภัยร้ายพรากชีวิต • รามา แชนแนล (mahidol.ac.th)
มาลาเรียถ้าป้องกันตัว ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด -โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (chulalongkornhospital.go.th)
Data Bank กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย (moph.go.th)
https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=17

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
oryor
การเลือกซื้อ
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน
สาระความรู้
อย.
ยากันยุง
ป้องกันยุง
ยารักษามาลาเรีย
ไข้มาลาเรีย
ยาป้องกันมาลาเรีย
ผลิตภัณฑ์กันยุง
ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง