ยาที่ทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสีหลังรับประทาน
6 ธันวาคม 2561

หากสีปัสสาวะของเราเปลี่ยนแปลงจากปกติ ก็อาจสร้างความกังวลใจให้แก่เราไม่น้อย โดยการเปลี่ยนสีปัสสาวะไม่ได้บ่งบอกการเกิดโรคหรือสภาวะร่างกายเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นมาจากการรับประทานยาได้ อีกเช่นกัน ตัวอย่างยาที่จะทำให้สีปัสสาวะจะมีการเปลี่ยนแปลงไปและไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อร่างกาย (ในกรณีกินอย่างถูกต้องตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ)  มีดังนี้

สีปัสสาวะ

ตัวอย่างยา

สีส้ม-แดง

ยารักษาวัณโรค ได้แก่ ไรแฟมพิซิน (Rifampicin)  และ ไอโซไนอะซิด (Isoniazid)

วิตามินบี 12 และวิตามินบี 2 โดยเฉพาะในขนาดสูง

ยารักษาโรคทางจิต ได้แก่ คลอโปรมาซีน (Chlorpromazine) และไธโอริดาซีน (Thioridazine)

ยาแก้ปวด ลดการอักเสบ ได้แก่ ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)

ยาระบาย ได้แก่ ใบมะขามแขก (senna)

น้ำตาล-ดำ

 

ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เมโทรนิดาโซล (Metronidazole)

ยาคลายกล้ามเนื้อ ได้แก่ เมโทรคาร์บามอล (Methocarbamol)

ยาระบาย ได้แก่ ใบมะขามแขก (Senna)

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ได้แก่ ซอร์บิทอล (Sorbitol) ซึ่งอาจใช้เป็นยาระบายเช่นกัน

เขียว-น้ำเงิน

 

ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ได้แก่ เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide)

ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร ได้แก่  ไซเมทิดีน (Cimetidine)

ยาแก้ปวด ลดการอักเสบ ได้แก่ อินโดเมธาซีน (Indomethacin)

ยารักษาโรคซึมเศร้า ได้แก่ อะมิทริปไทลีน (Amitriptyrine) ซึ่งอาจใช้รักษาโรคอื่น

ยาคลายกล้ามเนื้อ ได้แก่ เมโธคาร์บามอล (Methocarbamol)

โดยปกติแล้วเภสัชกรมักจะแจ้งผลข้างเคียงนี้ขณะอธิบายวิธีการใช้ยา หรือระบุไว้ในฉลากบนซองยา เพื่อให้ใช้ยาในการดูแลอย่างไม่ต้องเป็นการกังวล แต่หากมีปัสสาวะเปลี่ยนสีขณะใช้ยา ร่วมกับอาการผิดปกติอย่างอื่น หรือร่วมกับมีโรคประจำตัวบางโรค อาจบ่งบอกถึงอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรง ต้องรีบไปพบแพทย์   เช่น

ปัสสาวะมีสีแดงถึงน้ำตาล

มีอาการปวดกล้ามเนื้อ เมื่อใช้ยาลดไขมันในเลือด

มีจ้ำเลือดตามตัว ขณะกำลังใช้ยาที่เสี่ยงต่อการมีเลือดออกง่าย เช่น ยาแอสไพริน (aspirin)  โคลพิโดเกรล (clopidogrel) และวาร์ฟาริน (warfarin) เป็นต้น

ร่วมกับอาการแสดงภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเฉียบพลันอื่น ในผู้ที่มีโรคประจำตัวพร่องเอ็นไซม์จีซิกพีดี (G-6-PD deficiency)

กรณีเกิดการเปลี่ยนสีของปัสสาวะหากท่านไม่แน่ใจว่ามีสาเหตุมาจากอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงของยาหรือไม่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
เสริมอาหาร
ลดความอ้วน
อย.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ยาบิซาโคติน
ยาระบาย
แก้ท้องผูก
การขับถ่าย
ลดน้ำหนัก
ท้องผูก