
จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ และพื้นผิวเป็นวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัส ซึ่งแอลกอฮอล์นั้นมี 3 ชนิด แต่ไม่ใช่ทุกชนิดที่จะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ สำหรับแอลกอฮอล์ที่สามารถนำมาทำความสะอาดมือได้อย่างปลอดภัยได้แก่ เอทิลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นร้อยละ 70 โดยปริมาตรขึ้นไป และโพรพิลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นร้อยละ 70-90 และเนื่องจากมีความต้องการแอลกอฮอล์ 2 ชนิดนี้มากขึ้น ทำให้มีการนำเมทิลแอลกอฮอล์ออกมาขายแทน เพราะมีลักษณะภายนอกเหมือนกันจนไม่สามารถแยกความแตกต่างด้วยตาเปล่าได้ แต่เมทิลแอลกอฮอล์ไม่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัส อีกทั้งยังก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ เช่น ระคายเคืองผิวหนัง ระคายเคืองทางเดินหายใจ และทำให้เยื่อบุตาอักเสบ ดังนั้น ห้ามใช้เมทิลแอลกอฮอล์กับร่างกายโดยเด็ดขาด
หลายคนอาจสงสัยว่าแอลกอฮอล์ที่มีอยู่นั้นปลอดภัยใช้ได้ จริงหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยก่อนใช้สามารถทดสอบเบื้องต้นด้วยวิธีง่าย ๆ จากของใช้ในบ้าน ตามคำแนะนำของคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้
1. ละลายด่างทับทิม 1 เกล็ดเล็ก ด้วยน้ำส้มสายชู 1 – 3 มิลลิลิตร ได้เป็นสารละลายด่างทับทิมสีม่วง-แดง
2. เติมสารละลายด่างทับทิม 1 มิลลิลิตร ลงในแอลกอฮอล์ 3 มิลลิลิตร คนให้ละลายเป็นเนื้อเดียวกัน
3. จับเวลาพร้อมสังเกตระยะเวลาที่สีมีการเปลี่ยนแปลง โดยใช้สีของสารละลายในข้อ 1 เป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบ
- เมทิลแอลกอฮอล์ สีม่วง-แดง เปลี่ยนเป็น สีน้ำตาล (สีสนิม) ภายใน 15 นาที
- เอทิลแอลกอฮอล์ สีม่วง-แดง เปลี่ยนเป็น สีสนิมชัดเจน ภายใน 5 นาที
- ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ สีม่วง-แดง เปลี่ยนเป็น สีสนิมชัดเจน ภายใน 3 นาที
อย่างไรก็ตาม วิธีการทดสอบข้างต้นเหมาะสมกับการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่มีเมทิลแอลกอฮอล์เดี่ยว ๆ เท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดสอบแอลกอฮอล์สูตรผสมได้ หากไม่สามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์เองได้และต้องการส่งพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ หรือต้องการร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ติดต่อ สายด่วน อย. โทร. 1556
ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยควรใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือเท่านั้น ห้ามใช้กับส่วนเนื้อเยื่ออ่อนของร่างกาย เช่น ใบหน้า ตา ปาก เพราะทำให้ระคายเคืองได้