หลาย ๆ คนมีปัญหาท้องผูกเป็นเวลานาน และคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ความเป็นจริง หากปล่อยให้ท้องผูกติดต่อกันเป็นเวลานานจนเรื้อรังจะส่งผลเสียต่อร่างกาย อาจทำให้เกิดแผลที่ทวารหนักหรือลำไส้ตรง ริดสีดวงทวาร ลำไส้อุดตัน แล้วเมื่อท้องผูกเราจะแก้ได้อย่างไรนะ มาดูกัน
ควรเริ่มจากการปรับเปลี่ยนการกินอาหาร และการใช้ชีวิตให้ถูกต้อง ได้แก่ รับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีกากใยสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มน้ำอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน สร้างกิจวัตรในการขับถ่ายให้สม่ำเสมอและเป็นเวลา แต่หากปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่ช่วยให้อาการท้องผูกดีขึ้น การกินยาเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้การขับถ่ายอุจจาระทำได้ง่ายขึ้น โดยสามารถแบ่งตามการออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร ได้แก่
1. ยาระบายที่ช่วยเพิ่มปริมาณกากอาหารในลำไส้ (Bulk forming Laxatives) เป็นสารประเภทเส้นใยหรือไฟเบอร์ จะช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระให้มีมากขึ้นและบางตัวมีสารที่มีคุณสมบัติในการดูดน้ำได้ดี อุจจาระจึงนิ่มขึ้นและถ่ายออกได้ง่าย เช่น ยาไซเลียม (Psyllium) ยาเมทิลเซลลูโลส (Methylcellulose Fiber)
2. ยาระบายกลุ่มกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (Stimulant Laxatives) จะช่วยกระตุ้นจังหวะการบีบตัวของลำไส้ เช่น ยาบิซาโคดิล (Bisacodyl) ยาเซนโนไซด์ (Sennosides)
3. ยาระบายกลุ่มออสโมซิส (Osmotic Laxatives) จะออกฤทธิ์ดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่มากขึ้น ทำให้เพิ่มปริมาณน้ำในลำไส้ อุจจาระไม่แห้งและทำให้ลำไส้เกิดการบีบตัว เช่น ยาแมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) ยาแลคตูโลส (Lactulose) ยาโพลีเอทิลีนไกลคอล (Polyethylene Glycol: PEG)
4. ยาช่วยหล่อลื่นอุจจาระ (Lubricant Laxatives) เป็นยาที่ช่วยเพิ่มความลื่นให้กับลำไส้ อุจจาระจึงเคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น เช่น มิเนอรอล ออยด์ (Mineral Oils)
5. ยาที่ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัว (Stool Softeners) มีฤทธิ์ช่วยให้อุจจาระนิ่มจนง่ายต่อการเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ เช่น ยาในกลุ่มด็อกคิวเสต (Docusate Sodium/Docusate Calcium)
6. ยาเหน็บและการสวนอุจจาระ (Suppositories/Enemas) ยาเหน็บช่วยทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มลงและเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ในการขับอุจจาระมากขึ้น เช่น โซเดียม ฟอสเฟต (Sodium Phosphate) กลีเซอรีน (Glycerin)
หากจำเป็นต้องใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาระบายต่อเนื่องโดย ไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้การทำงานของลำไส้ผิดปกติไป