วิธีปฐมพยาบาลเมื่อสัตว์มีพิษกัดต่อย
31 มกราคม 2565

การเดินทางและท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่หลาย ๆ คนหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากอุบัติเหตุโดยยานพาหนะหรือโรคภัยไข้เจ็บจากสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศแล้ว สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคืออันตรายจากสัตว์มีพิษต่าง ๆ นั่นเอง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสัตว์มีพิษ เรามาเริ่มต้นศึกษาและสำรวจไปพร้อมกันดีกว่าว่า สัตว์ที่มีพิษนั้น
มีอะไรบ้าง และมีวิธีแก้ไขเบื้องต้นอย่างไรให้ปลอดภัย

1. งูมีพิษ โดยส่วนมากพิษของงูในไทยมักจะส่งผลต่อระบบประสาท เช่น งูเห่า หรืองูจงอาง เป็นต้น
ผู้ที่ถูกกัดจะมีอาการกล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรง ตาไม่มีแรง พูดไม่ออก กลืนน้ำลายลำบาก หยุดหายใจ และ
เสี่ยงเสียชีวิต

วิธีปฐมพยาบาล

- รีบนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและให้เร็วที่สุด พยายามจำลักษณะหรือสายพันธุ์ของงูให้ได้

- ล้างแผลบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาดหรือยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ไอโอดีน ไม่ควร
ใช้เหล้า ยาสีฟัน ขี้เถ้าทาแผล

- พยายามเคลื่อนไหวบริเวณที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด

- ดามแผลโดยใช้ไม้กระดานหรือกระดาษแข็งๆ และปิดแผลด้วยผ้าสะอาด หรือผ้าก๊อซ

- ห้ามกรีด-เปิดปากแผลด้วยของมีคมหรือดูดบริเวณที่ถูกกัด และไม่ควรใช้สมุนไพรพอกเพราะจะทำให้แผลสกปรกเกิดการติดเชื้อ และอาจเป็นบาดทะยักในภายหลังได้

- ห้ามขันชะเนาะ หากไม่รู้จักการขันชะเนาะที่ถูกวิธี เพราะอาจทำให้บริเวณที่ถูกกัดบวมและมีเนื้อตายมากขึ้น

- ให้ยาบรรเทาปวดได้ แต่ห้ามใช้ยาที่มีฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ ยาระงับประสาท ยานอนหลับ ยาดองเหล้า

2. ตะขาบ พิษของตะขาบ ประกอบด้วย สารก่อปฏิกิริยาอักเสบต่อร่างกาย ได้แก่ hydroxytryptamine หรือ cytolysin ทำให้เกิดการอักเสบ ปวดบวมแดง ร้อน ชา เกิดอัมพาตตรงบริเวณที่ถูกกัด ในบางรายอาจมีอาการแพ้หรือกระวนกระวาย อาเจียน หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ มึนงง ปวดศีรษะ อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย
แทรกซ้อนตรงบริเวณที่ถูกกัด อาจเป็นแผลไหม้อยู่ 2–3 วัน

3. แมงป่อง พิษของแมงป่อง ประกอบด้วยสาร neurotoxin เป็นส่วนใหญ่ ออกฤทธิ์ทำลายเซลล์ประสาท กล้ามเนื้อหัวใจ หลังถูกต่อยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการภายใน 4-7 นาที และมีอาการปวดมากในเวลา 30 นาที อาการที่พบทั่วไป ได้แก่ ปวดบวมแดง ปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณที่ถูกต่อย บางครั้งจะเป็นรอยไหม้ คัน ชา มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หากพิษเข้าสู่กระแสเลือดจะมีผลดังนี้ ง่วงซึม อัมพาตบางส่วน กล้ามเนื้อเกร็ง น้ำลายไหล ชัก ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะน้อย หัวใจเต้นเร็ว น้ำคั่งในปอด และอาจเสียชีวิตจากภาวการณ์หายใจล้มเหลว

วิธีปฐมพยาบาลสำหรับตะขาบและแมงป่อง

- ถ้าโดนกัดแล้วมีอาการไม่รุนแรง ให้ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำสบู่อ่อน ไม่แนะนำให้กรีดหรือนำสมุนไพรพอกบริเวณที่โดนกัด

- กินยาแก้ปวดพาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการปวด

- หลีกเลี่ยงการเกา แกะ บริเวณที่ถูกกัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อน

- ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

4. แมลงมีพิษต่าง ๆ ได้แก่ แมลงที่มีเหล็กใน (sting) เช่น ผึ้ง ต่อ แตน เหล็กในมีพิษที่มีผลทำให้เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวแตก บริเวณที่ถูกต่อยจะบวม แดง คัน และปวด แต่อาการจะรุนแรงแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย และบริเวณที่ถูกต่อย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เสียชีวิตเพราะพิษของแมลง การเสียชีวิตมักมาจากภาวะช็อกจากการแพ้

 

วิธีปฐมพยาบาล

ผู้ที่เคยมีประวัติแพ้มาก่อน

- ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดสำหรับผู้ที่เคยมีประวัติแพ้มาก่อน เช่น มีลมพิษทั่วตัว มีอาการบวมคันที่บริเวณนอกรอยแผลที่ถูกต่อย-กัด (เช่น หนังตาบวม ริมฝีปากบวม) หายใจลำบากหรือมีเสียงวี้ด หากรุนแรง เช่น มีภาวะช็อก ให้พิจารณานำส่งโรงพยาบาล หรือแจ้งสายด่วน 1669

ในผู้ที่ไม่เคยมีประวัติแพ้

- พยายามเอาเหล็กในออกให้เร็วที่สุด และทำความสะอาดแผลให้สะอาด

- ประคบด้วยน้ำแข็งครั้งละประมาณ 10 นาที ซ้ำทุก 1 ชั่วโมงจนกว่าอาการจะดีขึ้น เพื่อลดอาการ
ปวด บวม และลดการกระจายของพิษ

- สามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวด และยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการคัน

- ในผู้ที่มีอาการแพ้ ควรให้ยาแก้แพ้ เช่น chlorpheniramine หรือ hydroxyzine ครั้งละ ½-1 เม็ด
ทุก 6-8 ชั่วโมง และทาด้วย topical steroid

- หากมีอาการบวมแดง ปวดเพิ่มขึ้น หรือเป็นหนอง นั่นหมายถึง การติดเชื้อ ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน

- หากมีอาการแพ้ ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

 

ข้อมูลอ้างอิง : 

หน้าฝนควรระวัง วิธีรับมือถ้าโดน "ตะขาบกัด" • รามา แชนแนล (mahidol.ac.th)

https://m.facebook.com/ThaigovSpokesman/posts/640254659773677/?locale2=hr_HR&_rdr

ทำอย่างไรเมื่องูมีพิษกัด - โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (chulalongkornhospital.go.th)

http://www.nurse.nu.ac.th/web11/E-learning/FirstAid/cai/firstaid0291.html

https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=682

http://nurse.buu.ac.th/e-data/data/2012-08-10162.pdf

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
สาระความรู้
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ผลิตภัณฑ์ยา
สัตว์มีพิษ
ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ปฐมพยาบาล
สัตว์เลื้อยคลาน
งู
ตะขาบต่อย
พิษตะขาบ
แมลง
แมงป่อง