“กินยาแล้วง่วง”
อาการที่หลายคนเคยเป็น จนบางครั้งกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน
รวมไปถึงเสี่ยงต่อการขับขี่ยานพาหนะด้วย นอกจากยาที่ทำให้ง่วงซึม
ยาบางกลุ่มส่งผลให้อ่อนเพลีย วูบ หรือรบกวนการมองเห็นได้
วันนี้เราจึงพามารู้จักยาที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างขับรถ
พร้อมวิธีสังเกตคำเตือนบนฉลากยาง่าย ๆ
ยาที่มีผลต่อการขับขี่ เช่น
1. ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine) ที่รู้จักกันในชื่อ
ยาแก้แพ้หรือยาแก้โรคภูมิแพ้ รวมถึงกลุ่มยาแก้เมารถ เช่น คลอเฟนิรามีน
พบทั้งชนิดที่เป็นยาเดี่ยวและชนิดผสม ส่งผลให้เกิดการกดประสาท ทำให้ง่วงนอน มึนงง
มองไม่ชัด นอกจากไม่ควรใช้ยาก่อนที่จะขับขี่ยานพาหนะแล้วไม่ควรใช้ยาชนิดนี้ร่วมกับการดื่มสุรา
หรือยาที่มีฤทธิ์กดประสาทด้วย
2. ยาคลายเครียด/ยานอนหลับ/ยารักษาโรคจิตเวช และยารักษาโรคทางระบบประสาทบางชนิด เช่น ไดอะซีแพม อัลพาโซแลม
ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีผลต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น เกิดอาการซึมมาก
หลับนานผิดปกติ กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน ส่งผลให้การตัดสินใจล่าช้า
มีผลต่อการทำงานของร่างกายในการรับรู้ของอวัยะต่างๆ และสั่งการทำงานของแขนขา
ซึ่งหากรับประทานยาในกลุ่มนี้แล้วมาขับขี่ยานพาหนะอาจจะมีอาการง่วงซึมค้างจากยา
หรือประสิทธิภาพในการตัดสินใจในการขับขี่ลดลง อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้
3. ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมอนุพันธ์ของฝิ่น เช่น ทรามาดอล มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้พบผลข้างเคียงตั้งแต่อาการใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ มึนงง ง่วงซึม จนถึงรุนแรง เช่น กดศูนย์การหายใจของร่างกาย กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ประสาทหลอน จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเองขณะที่ใช้ยานี้
4. ยาแก้ไอหลายชนิดที่เป็นอนุพันธ์ของฝิ่น เช่น ยาแก้ไอน้ำดำที่มีส่วนผสมของโคเดอีน จะส่งผลให้คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม ลดประสิทธิภาพในการขับขี่ การใช้ยาในขนาดสูงทำให้การหายใจหยุด ช็อก และหัวใจหยุดเต้น
5.
ยาคลายกล้ามเนื้อ/แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผลต่อสารสื่อประสาทในสมอง ลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
บรรเทาอาการปวดตึง ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย จนบางครั้งอาจทำให้แขนขาอ่อนแรง
และใช้งานในการควบคุมได้ไม่ดีพอ
6. ยาประเภทอื่น ๆ เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน
ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง/ยารักษาโรคหัวใจ และยาหยอดตา
ที่มีผลรบกวนการขับขี่ยานพาหนะ
ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันอาการง่วงนอนจากยาขณะขับรถ
1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนในช่วงก่อนและขณะขับรถ
โดยสังเกตคำเตือนบนฉลากก่อนใช้ยา เช่น “ยานี้ทำให้ง่วงซึม
จึงไม่ควรขับขี่ยานยนต์หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง” หรือ “ควรทดสอบก่อนว่า
รับประทานยานี้แล้วไม่ง่วง” เป็นต้น
2.
หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนร่วมกับแอลกอฮอล์ โดยสังเกตคำเตือนบนฉลากก่อนใช้ยา เช่น
“ไม่ควรรับประทานร่วมกับสุราหรือสิ่งที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ” หรือ
“ยานี้มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่…% ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง”
3.
ยาบางชนิดรบกวนการมองเห็น เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม
แม้จะทำให้ตาพร่ามัวเพียงชั่วคราวแต่ไม่ควรใช้ระหว่างขับรถ
4. การใช้ยาที่ทำให้วูบ ใจสั่น หน้ามืด อ่อนเพลีย
ซึ่งเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยาลดความดันโลหิต
ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงผลข้างเคียงให้ชัดเจน
ไม่ควรหยุดยาหรือปรับการใช้ยาเองเพื่อขับรถ แต่ควรหลีกเลี่ยงการขับรถด้วยตัวเอง
ยาที่ส่งผลต่อการขับขี่ยานพาหนะ
พบได้ทั้งชนิดที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ซึ่งได้จากโรงพยาบาล และเป็นยาสามัญประจำบ้านที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาและร้านค้าทั่วไป
ดังนั้นก่อนใช้ควรอ่านคำแนะนำบนฉลาก และปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด
เพื่อความปลอดภัยควรเลือกซื้อยาจากร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง
มีเภสัชกรประจำร้านที่ได้มาตรฐาน สามารถให้คำแนะนำการใช้ยาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมจะดีที่สุด
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.hfocus.org/content/2014/12/8885
https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=816
https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=14585&deptcode=brc
https://www.hiso.or.th/hiso5/healthy/news.php?names=05&news_id=6631
https://www.dlt.go.th/minisite/m_upload/m_files/lamphun/file_f630d6d1f3f910a79901f379719b7e60.pdf (Slide2-3)
https://www.hfocus.org/content/2014/04/6887
https://www.hsri.or.th/people/media/infographic/detail/5002
https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=20
https://www.hsri.or.th/researcher/media/news/detail/3974
“ยาคลายกล้ามเนื้อ Tolperisone”
ใช้บ่อยเกินไป อันตรายหรือไม่? • รามา แชนแนล (mahidol.ac.th)
https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/Law03-TheMinistryOfHealth/law03-05-28
ดาวน์โหลด PDF