ปัญหาตาแห้ง เป็นภาวะเรื้อรังแต่ไม่รุนแรงซึ่งมักรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยการรักษาและป้องกันภาวะตาแห้งสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหลีกเลี่ยงยาที่มีผลลดการสร้างน้ำตา เช่น กลุ่มยาแก้แพ้ ยาขับปัสสาวะ และกลุ่มยาต้านซึมเศร้า ในผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยน้ำตาเทียม
จึงมองหาทางเลือกและอาจเคยได้ยินชื่อของยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างน้ำตา วันนี้เรามาทำความรู้จักกับยากลุ่มดังกล่าวให้มากขึ้นกันดีกว่า
ยาที่กระตุ้นการสร้างน้ำตาชนิดหยอด เป็นยาใช้เฉพาะที่ มีผลเพิ่มการสร้างน้ำตา การผลิตชั้นไขมันบนผิวน้ำตา การสร้างชั้นเยื่อเมือกของตา และเพิ่มปริมาณสารคัดหลั่งต่าง ๆ ภายในดวงตา โดยมุ่งเน้นให้ยาเข้ามามีผลกระตุ้นการสร้างน้ำตาเพื่อให้เกิดน้ำตาธรรมชาติ สามารถแบ่งยาที่กระตุ้นการสร้างน้ำตาออกเป็น 3 กลุ่ม
ตามคุณสมบัติการกระตุ้นการสร้างชั้นของฟิล์มน้ำตา
1. ยาที่มีผลกระตุ้นการสร้างชั้นน้ำของฟิล์มน้ำตา (Aqueous secretagogues)
2. ยาที่มีผลกระตุ้นการสร้างชั้นเมือกของฟิล์มน้ำตา (Mucin secretagogues)
3. ยาที่มีผลกระตุ้นการสร้างชั้นไขมันของฟิล์มน้ำตา (Lipid secretagogues)
Diquafosol sodium ได้รับอนุมัติทะเบียนเพื่อรักษาอาการตาแห้ง สำหรับผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็น
โรคตาแห้งซึ่งเกิดจากการทำงานของต่อมน้ำตาผิดปกติ มีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างชั้นน้ำของฟิล์มน้ำตา การสร้างชั้นเมือก และการผลิตชั้นไขมันบนผิวน้ำตา แนะนำให้ใช้ยา 3% Diquafosol sodium หยอดครั้งละ 1 หยด
วันละ 6 ครั้ง ต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์ จากนั้นจึงลดความถี่ของการใช้ยาลง เมื่อเริ่มใช้ยา 3% Diquafosol sodium อาการตาแห้งหรือความรู้สึกไม่สบายตาจะไม่ลดลงหรือหายไปทันทีหลังใช้ยา ซึ่งแตกต่างจากการใช้
น้ำตาเทียมที่เมื่อหยอดแล้วจะรู้สึกสบายตาทันที เนื่องจากยา 3% Diquafosol sodium จะค่อย ๆ ไปกระตุ้น P2Y2 receptor เพื่อให้เกิดการสร้างน้ำตาตามธรรมชาติ ดังนั้นในระยะแรกของการรักษาแนะนำให้ผู้ป่วยใช้
น้ำตาเทียมควบคู่ไปกับ 3% Diquafosol sodium โดยหยอดยาทั้งสองชนิดห่างกันประมาณ 5 นาที เพื่อให้
ยาชนิดแรกดูดซึมเข้าสู่ดวงตาก่อน โดยสามารถใช้ยาชนิดใดก่อนก็ได้ เมื่ออาการตาแห้งดีขึ้น สามารถปรับลด
ขนาดยาโดยลดความถี่การหยอดตาโดยแพทย์ เมื่ออาการตาแห้งหายแล้วสามารถหยุดการใช้ยาได้
ระหว่างใช้ยาควรติดตามอาการข้างเคียงซึ่งอาจเกิดขึ้นได้แก่ ระคายเคืองตา น้ำตาหรือขี้ตาไหลผิดปกติ คันตา ปวดตา ตามัว รู้สึกผิดปกติในตา ตาสู้แสงไม่ได้ เปลือกตาอักเสบ ปวดศีรษะ ภาวะภูมิไวเกินจากยา
เยื่อบุตาอักเสบ หรือมีความผิดปกติของกระจกตา (อาการเหล่านี้ไม่มีรายงานความถี่ของการเกิด) หากมีอาการมากขึ้นควรหยุดยาและปรึกษาจักษุแพทย์
สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าระคายเคืองไม่สบายตา ในเบื้องต้นสามารถบรรเทาด้วยการฝึกกระพริบตาให้สม่ำเสมอ การประคบน้ำอุ่น นวดและทำความสะอาดเปลือกตา หรือใช้น้ำตาเทียมหยอดเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาก่อนได้ จากนั้นจึงลองสังเกตพฤติกรรม สิ่งแวดล้อมและปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่ภาวะตาแห้ง หากไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดหรืออาการไม่บรรเทาลง แนะนำให้รีบไปพบจักษุแพทย์ทันที
อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยา ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเลขทะเบียนตำรับยาได้
หลายช่องทาง เช่น Line : FDAThai, www.oryor.com หรือ www.fda.moph.go.th
ข้อมูลอ้างอิง :
https://li01.tci-thaijo.org/index.php/TBPS/article/view/32445/27685
https://eent.co.th/articles/047/
ภาวะตาแห้ง CPE final (hcu.ac.th)
ยาที่กระตุ้นการสร้างน้ำตา (tear secretagogues)_Final.pdf
(link นี้ click ไปดูต้นทางไม่ได้ เหมือนเป็น file ที่ d/l มา จากเว็บ ccpe ของสภาเภสัช)
https://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=816