วิธีใช้ยาสูดพ่น MDI
8 สิงหาคม 2566

Metered dose inhaler (MDI) เป็นเครื่องพ่นยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากพกพาสะดวก ราคาถูก เหมาะกับการพกพาไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน เช่น มีอาการหอบหืดกำเริบเพราะไม่ต้องใช้แรงสูดลมหายใจมากแต่ต้องอาศัยเทคนิคพ่นยาเฉพาะที่ต้องปฏิบัติอย่างถูกวิธีถึงจะส่งผลให้ยาเข้าถึงตำแหน่งที่ออกฤทธิ์ได้ดี นำไปสู่ประสิทธิภาพการรักษาที่ดีขึ้นและลดการเกิดผลข้างเคียง

          เทคนิคที่ต้องใส่ใจ…เมื่อใช้ยาสูดพ่น MDI

1.    อย่าลืมเขย่าขวดยาก่อนใช้ หลายคนมักไม่ปฏิบัติในขั้นตอนนี้เพราะมองว่าไม่มีความสำคัญ ทำให้ได้รับขนาดยาไม่ครบถ้วนและไม่สม่ำเสมอ แต่เนื่องจากตัวยาสำคัญที่อยู่ในขวดยาพ่น MDI เป็นรูปแบบสารแขวนลอยที่อาจตกตะกอนเมื่อตั้งทิ้งไว้ จึงจำเป็นต้องเขย่าหลอดยาแรง ๆ ในแนวดิ่ง 4-5 ครั้งก่อนสูดพ่นยาเพื่อ ให้ตัวยาสำคัญกระจายตัวเป็นเนื้อเดียวกัน ในการสูดพ่นยาควรถือเครื่องพ่นยาในแนวตั้ง ให้ด้านกดยาอยู่ข้างบนและด้านปากหลอดสูดยาอยู่ด้านล่าง เพราะหากถือในทิศทางกลับกันหรือถือแนวนอนจะทำให้พ่นตัวยาสำคัญออกมาได้ไม่ดี

2.    การกดยาไม่สัมพันธ์กับการหายใจเข้า ทำให้ละอองยาเข้าปอดได้ลดลง ยาอาจตกค้างอยู่ในช่องปาก หรือฟุ้งกระจายออกมาข้างนอก และได้รับยาไม่เต็มที่ การกดยาพร้อมกับสูดเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ควรฝึกทำหน้ากระจกทุกครั้ง หากยังพบว่ามีควันหลุดลอดออกจากปากหรือจมูกขณะกดพ่นยา ให้ใช้ Spacer หรือกระบอกพ่นยาโดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถควบคุมการหายใจเข้า กลั้นหายใจ หรือกดยาให้สัมพันธ์กับการหายใจเข้าได้ Spacer จะเป็นตัวช่วยเพิ่มปริมาณยาที่เข้าสู่ปอดได้มากขึ้น ช่วยลดขนาดละอองฝอย และลดการสะสมยาที่คอหอย

3.    การสูดยาต้อง “ช้า ลึก ยาว” ที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยสูดหายใจเข้าทางปากนานประมาณ 3-5 วินาที เพื่อให้ละอองยาเข้าสู่ปอดได้ดีและมีประโยชน์ในแง่ลดการตกค้างของละอองยาในช่องปาก หากสูดยาเข้าเร็วมีโอกาสทำให้ควันกระแทกบริเวณในช่องปากและตีกลับออกมาได้

4.    กลั้นหายใจให้ได้นานที่สุด อย่างน้อย 10 วินาที จะเพิ่มเวลาให้ตัวยาสำคัญถูกนำส่งไปถึงปอดและหลอดลม ยามีระยะเวลาอยู่ที่บริเวณออกฤทธิ์นานขึ้น และเพิ่มเวลาในการถูกดูดซึม หากหายใจออกมาเร็วจะทำให้ตัวยาบางส่วนถูกขับออกมาพร้อมลมหายใจ

นอกจากการปรับ 4 เทคนิคข้างต้นแล้ว มีรายละเอียด ที่หลายคนมักลืมปฏิบัติ ดังนี้
-
กรณีต้องใช้ยา 2 สูตร หรือพ่นยา 2 ครั้ง ให้เว้นระยะห่างในการสูดครั้งที่ 2 ให้ห่างจากครั้งแรกประมาณ 1 นาที เพราะการกดยา 2 ครั้งติดต่อกัน จะทำให้ได้รับปริมาณยาเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างลดลง
-
หลังพ่นยาเสร็จเรียบร้อย กลั้วปากและคอด้วยน้ำสะอาดแล้วบ้วนทิ้ง เพื่อลดอาการปากแห้ง ลดการเกิดเชื้อราในช่องปาก และการเกิดเสียงแหบ โดยเฉพาะจากการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์


ข้อมูลอ้างอิง 

https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=54

Inhaler Device | ThaiChest (thaichestjournal.org)

https://www.khuankhanunhospital.org/file/WI/pha-019.pdf (Slide 8)

รู้จักวิธีพ่นยารักษาโรคหอบหืด.pdf (chulalongkornhospital.go.th)

http://medinfo2.psu.ac.th/commed/document/conf/2012/COPD_asthma_fam%20med.pdf
slide 45,51
-53

https://thaichest.files.wordpress.com/2019/08/art_37_2_inhaler.pdf (Slide1-2)
file:///C:/Users/Asus/Downloads/upphar3-19.pdf (P.7-8)

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
oryor
การรักษา
การเลือกซื้อ
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ผลิตภัณฑ์ยา
อย.
สาระความรู้
ฉีดพ่น
ยาพ่นจมูก
ยาพ่นคอ
หอบหืด
โรคหอบหืด