วัคซีนที่จำเป็นในผู้สูงอายุ
10 เมษายน 2567

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว สิ่งที่ตามมาด้วยก็จะเป็นเรื่องปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรังของผู้สูงอายุที่มากขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็จะมีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ลดลง ส่งผลทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อต่าง ๆ หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าวัยอื่น ๆ โดยวิธีการป้องกันและลดความเสี่ยงดังกล่าวนั้นสามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีน ในบทความนี้จะนำเสนอวัคซีนที่จำเป็นในผู้สูงอายุ ได้แก่

1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่

          คือ วัคซีนที่ช่วยลดความรุนแรง ลดโอกาสการนอนโรงพยาบาลและโอกาสการเสียชีวิตของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่มี 3 - 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ A 2 สายพันธุ์และสายพันธุ์ B 1-2 สายพันธุ์    ซึ่งสายพันธุ์ที่นำมาผลิตวัคซีนจะเปลี่ยนไปทุก ๆ 6 เดือน ขึ้นกับการระบาดของปีนั้น ๆ จึงทำให้ต้องมีการฉีดเป็นประจำทุกปี

วิธีการฉีด : ฉีด 1 เข็ม เป็นประจำทุกปี

2. วัคซีนงูสวัด

          คือ วัคซีนที่ช่วยลดโอกาสการเกิดและลดความรุนแรงของโรคงูสวัด ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้

วิธีการฉีด : ฉีด 1 เข็ม ครั้งเดียว ในผู้ที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

ข้อควรระวัง : ในผู้ที่เคยเป็นงูสวัด ให้เว้นระยะห่างหลังจากเป็นงูสวัดอย่างน้อย 6 เดือน

3. วัคซีนปอดอักเสบนิวโมค็อกคัส

          คือ  วัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมค็อกคัสที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบและการติดเชื้อทางเดินหายใจที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือดและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยปัจจุบันวัคซีนแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิด 13 สายพันธุ์ (Pneumococcal conjugate vaccine; PCV13) และชนิด 23 สายพันธุ์ (Pneumococcal polysaccharide vaccine; PPSV23)

วิธีการฉีด : ฉีดชนิด 13 สายพันธุ์ 1 เข็ม จากนั้นอาจพิจารณาฉีดชนิด 23 สายพันธุ์อีก 1 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 1 ปี ในผู้ที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

ข้อควรระวัง : ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนคอตีบ (Diphtheria toxoid)

 

          ส่วนวัคซีนอื่น ๆ เช่น วัคซีนโควิด-19 สามารถพิจารณาฉีดได้ โดยปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

อาการข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป

          มีอาการปวด บวม แดง หรือคันบริเวณที่ฉีด มีอาการไข้ วิงเวียน ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย หรือปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถหายได้ภายใน 2-3 วัน

หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีผื่นขึ้น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก มีอาการวูบ เป็นลมที่สงสัยว่าอาจมีภาวะแพ้อย่างรุนแรง ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที


ข้อมูลอ้างอิง

- คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย พ.ศ.2566

- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ https://www.chulabhornchannel.com/health-articles/2023/04/วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ/

- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา https://oryor.com/media/infoGraphic/media_printing/2017?ref=search

- กรมควบคุมโรค https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1172220210831062615.pdf

- คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://ccpe.pharmacycouncil.org/showfile.php?file=1381

- สถาบันวัคซีนแห่งชาติ http://164.115.45.63/VIMSFile/Factsheet/2565_11_pneumococcal_vaccine_factsheet.pdf

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
oryor
การรักษา
ผลิตภัณฑ์ยา
วัคซีน
อย.
สาระความรู้
ฉีดวัคซีน
วัคซีนงูสวัด
วัคซีนคอพอก
วัคซีนคอตีบ
ไข้หวัดใหญ่
วัคซีนไข้หวัดใหญ่
วัคซีนปอดอักเสบ
ปอดอักเสบ