ทำยังไงดี!? เมื่อลูกแพ้นมวัว
12 พฤศจิกายน 2567

คุณแม่ทุกท่านล้วนอยากให้ลูกน้อยเติบโตสมวัย จึงรังสรรค์อาหารดี ๆ มีประโยชน์มาให้ลูกน้อยได้รับประทาน นมวัวเป็นอีกหนึ่งสุดยอดอาหารที่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์และจำเป็นสำหรับลูกน้อย มีแคลเซียม ช่วยเพิ่มความสูงและช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก แต่ในเด็กบางรายมีอาการ แพ้นมวัวซึ่ง การแพ้โปรตีนนมวัว (Cow's Milk Protein Allergy - CMPA) เป็นภาวะที่ร่างกายของลูกมีปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในนมวัว อาการแพ้นมวัวที่พบได้มีทั้งเล็กน้อยจนถึงรุนแรง คือ

1.    อาเจียน 

2.    มีผื่นลมพิษ ผื่นคันตามผิวหนัง

3.    หน้าบวม

4.    อาจมีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด  

5.    ไอ หายใจเสียงดังวี้ด หายใจลำบาก

6.    อาการแพ้แบบรุนแรงเฉียบพลันทั่วตัว (Anaphylaxis)

ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้นหรือหายไปก็ต่อเมื่อให้เด็กหยุดดื่มนมวัวหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัวนั้นๆ แต่ในบางรายที่มีอาการแพ้รุนแรงอาจมีอาการหายใจไม่ออก และถึงขั้นเสียชีวิตได้ พ่อ แม่หรือบุคคลใกล้ตัวเด็กจึงควรสังเกตอาการแพ้ที่เกิดขึ้น และดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรงควรรีบพาไปพบแพทย์

ถ้าลูกน้อยมีอาการแพ้นมวัวควรทำอย่างไร?

1.    ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินอาการแพ้ว่าเป็นการแพ้นมวัวจริงหรือไม่ เพื่อรับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนอาหารและการดูแลลูกน้อย

2.    ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อยสี่เดือน เนื่องจากมีงานวิจัยว่า การได้รับนมแม่มากกว่า 4 เดือนจะช่วยลดอาการแพ้นมวัวในเด็กได้

3.    หลีกเลี่ยงการให้นมวัว และอาหารที่มีส่วนผสมของนมวัวแก่เด็ก เช่น ชีส ไอศกรีม โยเกิร์ต นมเปรี้ยว อาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีนเวย์หรือโปรตีนเคซีน โดยผู้ปกครองควรอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิด เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีนมวัว หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบ 

4.    ไม่ควรใช้นมจากสัตว์อื่น เช่น แพะ แกะ ลา กระบือ ทดแทนนมวัว เนื่องจากในปัจจุบันพบว่ามีการแพ้ข้ามกลุ่ม ทำให้มีโอกาสแพ้ได้เช่นกัน

5.    สำหรับทารกและเด็กเล็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว สามารถให้นมแม่ต่อไปได้ และให้คุณแม่งดนมวัว ผลิตภัณฑ์จากนมวัว และอาหารที่มีโปรตีนจากนมวัว

สำหรับทารกและเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผสม ให้เลือกรับประทานอาหารหรือนมสูตรเฉพาะสำหรับเด็กที่แพ้นมวัว เช่น

a.     Soy protein-based formula (อาหารทางการแพทย์สูตรโปรตีนจากถั่วเหลือง) เช่น Isomil และ Dumex Hi Q Soy

b.    Extensively hydrolyzed formula (อาหารทางการแพทย์สูตรเปปไทด์ขนาดเล็ก) เช่น Nutramigen และ Pregestimil

c.     Amino acid-based formula (อาหารทางการแพทย์สูตรกรดอะมิโน) เช่น Neocate LCP และ Puramino

d.    Modular formula (MF, อาหารทางการแพทย์สูตรที่เตรียมสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายเช่น นมสูตรโปรตีนจากเนื้อไก่ และนมข้าวอะมิโน ซึ่งผลิตโดย ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล

การที่ลูกแพ้อาหารเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารเด็ก เพื่อให้ได้การดูแลที่เหมาะสมต่อสุขภาพของลูก เด็กที่มีอาการแพ้นมวัวในช่วงวัยแรกเกิดอาจจะหายจากอาการแพ้นมวัวได้เองเมื่ออายุเพิ่มขึ้น และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เพราะร่างกายแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทั้งยังมีความต้านทานกับโปรตีนมากขึ้น แต่มีจำนวนน้อยมาก ที่ยังไม่หายเมื่อโตขึ้น บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจการทดสอบการแพ้อาหาร (Oral Food Challenge Test) เพื่อให้วินิจฉัยได้อย่างชัดเจนมากที่สุดว่าเด็กแพ้อาหารอะไร


ข้อมูลอ้างอิง

อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคแพ้โปรตีนนมวัว. เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย. (n.d.). Retrieved December 28, 2023, from

ไขข้อข้องใจ..โรคแพ้โปรตีนนมวัวและการย่อยแลกโทสบกพร่อง ต่างกันอย่างไร? | โรงพยาบาลพญาไท. (2020). โรงพยาบาลพญาไท | แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และแหล่งรวมความรู้ด้านสุขภาพ - Phyathai Hospital. Retrieved December 28, 2023

Vandenplas, Y., Brough, H. A., Fiocchi, A., Miqdady, M., Munasir, Z., Salvatore, S., Thapar, N., Venter, C., Vieira, M. C., & Meyer, R. (2021).

Current Guidelines and Future Strategies for the Management of Cow’s Milk Allergy

. Journal of Asthma and Allergy, 14, 1243–1256.

Matthai, J., Sathiasekharan, M., Poddar, U., Sibal, A., Srivastava, A., Waikar, Y., Malik, R., Ray, G., Geetha, S., Yachha, S. K., Indian Society of Pediatric Gastroenterology, Hepatology and Nutrition, & Pediatric Gastroenterology Chapter of Indian Academy of Pediatrics. (2020). Guidelines on Diagnosis and Management of Cow’s Milk Protein Allergy. Indian Pediatrics, 57(8), 723–729.

5 สัญญาณ อาการ “แพ้นมวัว.” (2023). โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย. Retrieved December 28, 2023

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
GDA
oryor
การเลือกซื้อ
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ผลิตภัณฑ์อาหาร
อย.
สาระความรู้
อาหาร
นมวัว
แพ้โปรตีนนมวัว
เด็กทารก
เด็กเล็ก