รู้ก่อนใช้ พลาสติกแบบไหนกันนะที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้
20 พฤษภาคม 2568

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการนำมาใช้บรรจุหรือสัมผัสอาหาร และไมโครเวฟก็เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีกันทั่วไป เพราะช่วยให้ประหยัดเวลาในการทำอาหาร ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น หลายคนจึงเกิดข้อสงสัยว่า พลาสติกแบบไหนกันนะที่สามารถเอาเข้าไมโครเวฟได้  วันนี้เรามีคำตอบ มาติดตามกันเลย

ปัจจุบันพลาสติกที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ แบ่งตามลักษณะการใช้งาน 2 ประเภท คือ

1. ภาชนะพลาสติกสำหรับการอุ่นครั้งเดียว ซึ่งทำขึ้นเพื่อใช้ครั้งเดียวสำหรับอุ่นในเตาไมโครเวฟ ผลิตจากพลาสติก 3 ชนิด คือ พอลิพรอพิลีน (PP) พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต (PET) พอลิสไตรีน (PS)

2. ภาชนะพลาสติกสำหรับการอุ่นซ้ำได้ ผลิตจากพลาสติก 4 ชนิด คือ พอลิพรอพิลีน (PP) พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต (PET) พอลิเมทิลเมทาคริเลต (PMMA) พอลิเมทิลเพนทีน (PMP)

 

เนื่องจากพลาสติกมีหลายประเภท แม้จะมีคุณสมบัติเหนียวและมีความทนทานต่ออุณหภูมิสูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถใส่อาหารเพื่ออุ่นร้อนด้วยไมโครเวฟได้ทุกประเภท ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการบริโภค ก่อนใช้ควรอ่านรายละเอียดบนฉลากหรือสัญลักษณ์บนผลิตภัณฑ์ให้ดีเสียก่อน ดังนี้

1. ดูว่าภาชนะพลาสติกนั้นสามารถใช้กับไมโครเวฟได้หรือไม่ เช่น เลือกภาชนะที่มีข้อความหรือสัญลักษณ์ Microwave Safe หรือ Microwavable ถ้าไม่ได้ระบุไว้ควรเลี่ยงการใช้ เช่น

2. มีสัญลักษณ์แสดงว่าสัมผัสอาหารได้อย่างปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

3. ไม่ใช้อุณหภูมิสูงเกินตัวเลขอุณหภูมิที่ปรากฏบนผลิตภัณฑ์

4. ไม่ควรนำพลาสติกแบบ Single -Use มาใช้ซ้ำ เพราะอาจทำให้พลาสติกละลายได้

อย่างไรก็ตามพลาสติกเมื่อใช้ไปนานๆ หรือใช้ที่อุณหภูมิสูงเกิน ยังคงมีความเสี่ยงที่สารเคมีจะออกมาปะปน เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้ เพื่อความปลอดภัย และความมั่นใจอาจเลือกใช้วัสดุที่ปลอดภัยกว่า เช่น แก้ว เซรามิก เป็นต้น ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงโลหะหรืออะลูมิเนียม เพราะวัสดุเหล่านี้สะท้อนคลื่นไมโครเวฟได้ อาจจะทำให้เกิดอันตราย ประกายไฟหรือไฟไหม้ตามมาได้

 

#พลาสติก #ไมโครเวฟ  #พลาสติกที่เข้าไมโครเวฟได้ #ไมโครเวฟเซฟ #Microwave Safe #ไมโครเวฟเอเบิล #Microwavable



ข้อมูลอ้างอิง

1. พลาสติกแบบไหนที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2021). Retrieved May 24, 2024, from

2. พลาสติกที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้ . สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม. (n.d.). Retrieved May 24, 2024, from

3. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ เล่ม 1 สำหรับการอุ่น (มอก.2493 เล่ม 1-2554). สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม. (n.d.). Retrieved May 24, 2024, from

4. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ เล่ม 2 สำหรับการอุ่นครั้งเดียว (มอก.2493 เล่ม 2-2556). สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม. (n.d.). Retrieved May 24, 2024, from


คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
oryor
การเลือกซื้อ
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
สาระความรู้
อย.
อาหาร