น้ำตาลเทียม
คือกลุ่มของสารให้ความหวานเพื่อทดแทนน้ำตาล มีรสชาติหวานคล้ายน้ำตาลแต่มีพลังงานต่ำหรืออาจไม่ให้พลังงานเลยขึ้นอยู่กับแต่ละชนิด
จึงได้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นทางเลือกให้คนที่รักษาสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมแคลอรี น้ำตาลเทียมนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ
ซึ่งสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในกลุ่มนี้ที่เราควรรู้จัก ได้แก่
1. แอสพาร์เทม (Aspartame)
เป็นสารให้ความหวาน ที่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร เช่น ครีมเทียม หมากฝรั่ง ซีเรียล
ขนมหวาน เครื่องดื่ม และผลไม้แห้ง เป็นต้น ใน 1 วัน ไม่ควรรับประทานเกิน 40-50 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
ข้อดี
ไม่ทำให้เกิดภาวะฟันผุ
และไม่กระตุ้นน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้น เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน
ข้อเสีย เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเมื่อเจอความร้อนสูงทำให้เกิดรสขมและความหวานลดลง
ไม่ควรใช้ปรุงอาหารขณะร้อน
ข้อควรระวัง
ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะฟีนิลคีโตนยูเรีย
(phenylketonuria) ดังนั้นให้สังเกตฉลากที่แสดงข้อความว่า“มีphenylalanine” และแสดงคำเตือน “ห้ามใช้ในผู้ที่มีภาวะฟีนิลคีโตนยูเรีย”
2. แซ็กคาริน (Saccharin) หรือขัณฑสกร เป็นสารให้ความหวาน
ที่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร เช่น เครื่องดื่มหรือผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนผสม
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แต่งกลิ่นรส ผลไม้ดอง ไอศกรีม ขนมหวาน และหมากฝรั่ง เป็นต้น ใน 1 วัน ไม่ควรรับประทานเกิน 5 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1
กิโลกรัม
ข้อดี
ทนต่อความร้อนสูงได้
ข้อเสีย
การได้รับแซ็กคารินในปริมาณสูงอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้
อาเจียน ท้องเดินท้องเสีย ปวดท้อง มีอาการง่วงซึม และอาจชักได้ ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้แซ็กคาริน
ข้อควรระวัง
ระวังการใช้ในสตรีมีครรภ์
3. แอซีซัลเฟม โพแทสเซียม (Acesulfame potassium) เป็นสารให้ความหวาน ที่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร เช่น อาหารประเภทของอบ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ของหวานที่แช่แข็งหรือแช่ตู้เย็น ซอสรสหวานต่างๆ
และน้ำตาลโรยหน้าขนม เป็นต้น ใน 1 วัน ไม่ควรรับประทานเกิน 15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว
1 กิโลกรัม
ข้อดี ไม่เกิดการสะสมในร่างกาย ถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วและกำจัดออกมาในรูปเดิม
สามารถใช้ได้ในสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร
และผู้ป่วย phenylketonuria
4. ซูคราโลส (Sucralose) มีความหวานใกล้เคียงกับน้ำตาลธรรมชาติ
อนุญาตให้ใช้ในอาหาร เช่น ไอศกรีม
ขนมขบเคี้ยว ซอส ลูกกวาด แยม และอาหารกระป๋อง เป็นต้น ใน 1 วัน ไม่ควรรับประทานเกิน 15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
ข้อดี คงตัวดี ทนต่อความร้อนสูง
ไม่ดูดความชื้น ละลายน้ำได้ดี ไม่มีรสขมติดลิ้น
ใช้ปรุงอาหารและขนมทุกชนิดที่ต้องใช้ความร้อนสูงและไม่สูญเสียความหวาน
ข้อเสีย
อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ในบางคน
5. นีโอเทม (Neotame) ใน 1 วัน ไม่ควรรับประทานเกิน
2 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
เพราะให้ความหวานมากกว่าสารตัวอื่น
ๆ โดยให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 800-1300 เท่า
ข้อดี ใช้กับอาหารและเครื่องดื่มได้ทุกประเภท
สารทดแทนความหวานข้างต้น สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย หากบริโภคไม่เกินปริมาณที่กำหนด
ซึ่งน้ำตาลเทียมไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่ต้องบริโภคประจำ
แต่เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น
ทั้งนี้เราสามารถควบคุมปริมาณน้ำตาลด้วยการอ่านข้อมูลบนฉลากโภชนาการเวลาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารตามร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตได้ โดยสังเกตปริมาณของน้ำตาล ซึ่งไม่ควรสูงเกิน 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค แต่ในบางบรรจุภัณฑ์อาจระบุข้อความอื่น เช่น “Sugar Free” คือ ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำตาล หรือมีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค หรือมีรสหวานจากสารให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงาน (0 แคลอรี) หรือ “Non-nutritive sweetener” คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ หรือน้ำตาลเทียมนั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิง