
น้ำมันและไขมัน มีกรดไขมันเป็นองค์ประกอบแตกต่างกันไปตามชนิดของน้ำมันและไขมัน เป็นผลให้น้ำมันและไขมันแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ได้แก่
- กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated fatty acid) คือ ไขมันที่เป็นไขมันเต็มตัว เช่น ไขมันโคเลสเตอรอล ไขมัน
ไตรกลีเซอไรด์ พบมากในพวกไขมันสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว และไขมันจากกะทิ มะพร้าว เนย และไข่แดง เมื่อบริโภคในปริมาณมาก จะไปสะสมในเซลล์ไขมันทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดโรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ไขมันชนิดนี้มีความจำเป็นต่อร่างกาย เพียงแต่ต้องบริโภคในปริมาณที่จำกัด - กรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated fatty acid) เป็นไขมันที่ได้จากพืช ยกเว้นจากพืชบางชนิด เช่น กะทิ และน้ำมันปาล์ม ไขมันชนิดนี้ มีผลต่อโรคอ้วนและโรคหลอดเลือดน้อยกว่าไขมันอิ่มตัว
- กรดไขมันทรานส์ พบมากในอาหารแปรรูป เช่น มาการีน ขนมขบเคี้ยว เป็นไขมันที่เกิดจากการแปรรูป จึงย่อยสลายได้ยากกว่าไขมันชนิดอื่น จึงอาจก่อให้เกิดความผิดปกติกับร่างกาย คือ น้ำหนักและไขมันส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น มีภาวะการทำงานของตับที่ผิดปกติ และมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด
อย่างไรก็ตาม น้ำมันและไขมัน มีกรดไขมันที่เป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผนังเซลล์เพื่อช่วยในการดูดซึมวิตามินดี เอ อี และเค นอกจากนี้ กรดไขมันยังให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่หากได้รับเกินความต้องการร่างกายจะเก็บไว้เป็นพลังงานสะสมในรูปของไขมัน
ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดโรคอ้วน และส่งผลต่อการเกิดโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ ไขมันแต่ละชนิดมีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราจึงควรเลือกบริโภคน้ำมันและไขมันให้หลากหลายและเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
- เอกสารประกอบการชี้แจงกรรมาธิการ ก.ค. 58
ประเด็น : น้ำมันและไขมันประกอบอาหาร
หน่วยงานรับผิดชอบ : สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ผู้รับผิดชอบ : ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร
- http://haamor.com/th/ไขมันอิ่มตัว-ไขมันไม่อิ่มตัว/
- https://th.wikipedia.org/wiki/กรดไขมันอิ่มตัว
- https://th.wikipedia.org/wiki/ไขมันทรานส์