พลาสเตอร์ปิดสะดือแก้เมารถ ไม่จริง
20 สิงหาคม 2561

           แชร์กันสนั่นโซเชียล เกี่ยวกับหลากหลายวิธีเพื่อแก้อาการเมารถ เมาเรือ และยังมีอีกวิธีที่ส่งต่อกันจนหลาย ๆ คนเริ่มสับสนว่าแท้จริงแล้วเป็นเรื่องจริงที่เชื่อได้หรือไม่ นั่นก็คือ การนำพลาสเตอร์ปิดแผลมาปิดตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น สะดือ ใต้สะดือ หลังหู ซึ่งไม่ว่าจะนำไปติดตรงไหนก็ตาม แท้จริงแล้ว การนำพลาสเตอร์ปิดแผล มาติดตามอวัยวะต่าง ๆ นั้น ไม่สามารถช่วยลดอาการเมารถได้

          ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกับสาเหตุของการเกิดอาการเมารถ เมาเรือกันเสียก่อน อาการเมารถ
เมาเรือ หรือบางคนคิดว่าเมาคลื่นนั้น เกิดจากการที่ระบบประสาทการทรงตัวของเรา มีการทำงานที่ไม่สมดุล ซึ่งความไม่สมดุลนี้อาจเกิดจากระบบประสาทการทรงตัวมีการทำงานที่ไวขึ้นกว่าปกติ หรือเกิดจากการที่ได้รับแรงกระตุ้นมากเกินไป เช่น นั่งรถที่เหวี่ยงนาน ๆ หรือนั่งเรือที่โคลงเคลง โต้คลื่นเป็นเวลานาน พอทราบสาเหตุของโรคแล้ว จะเห็นได้ว่าเกิดจากการทำงานของระบบประสาทการทรงตัวเป็นหลัก ดังนั้น การนำพลาสเตอร์มาปิดตรงนู้น ตรงนี้ จึงไม่มีความเกี่ยวข้อง และไม่ได้ช่วยให้อาการเมารถ เมาเรือดีขึ้นเลย

          ซึ่งการป้องกันการเมารถ หรือเมาเรือเบื้องต้นนั้น คือ

1.   อย่าให้ท้องว่าง เพราะยิ่งท้องว่างจะยิ่งเมารถ หรือเมาเรือเร็วขึ้น ควรรับประทานอาหารตามปกติ และ
เว้นระยะพักประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนออกเดินทาง

2.       หากเดินทางด้วยรถ พยายามนั่งที่นั่งตรงหน้ารถ ข้าง ๆ เบาะคนขับ จะทำให้เมาช้าลง

3.       หากเดินทางด้วยเรือ พยายามนั่งบริเวณกลางลำเรือ เพราะจะได้รู้สึกโคลงเคลงน้อยที่สุด

4.       รับประทานยาแก้เมารถ (Diphenhydramine) 1 เม็ด ก่อนออกเดินทางครึ่งชั่วโมง แต่ยาอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม

แท็กที่เกี่ยวข้อง
ยา
สุขภาพ
รักษาโรค
อย.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
แพ้ยา
อาการผื่นแดง
หายใจไม่ออก
ยาแก้แพ้