
แม้ว่าการออกกำลังกายจะสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย แต่หากออกกำลังกายไม่ถูกวิธี หรือหักโหมมากเกินไปก็อาจเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นได้ โดยอาการที่พบบ่อยก็คืออาการ “ปวดกล้ามเนื้อ” ซึ่งเกิดการบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ และหากเกิดขึ้นแล้ว การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยลดอาการบาดเจ็บไม่ให้รุนแรงขึ้นได้ โดยมีหลักการสำคัญ 4 อย่าง ดังนี้
1. “พัก” คือ พักหรือขยับบริเวณที่บาดเจ็บให้น้อยที่สุด
2. “ยก” คือ ยกบริเวณบาดเจ็บให้สูงขึ้น ลดอาการบวมและอักเสบ
3. “ผ้า” คือ พันผ้า หรืออุปกรณ์เสริมบริเวณบาดเจ็บให้อยู่นิ่ง เพื่อลดการบวม
4. “เย็น” คือ ประคบเย็นบริเวณบาดเจ็บเป็นเวลา 10-15 นาที ทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง
และหลักการสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การหลีกเลี่ยงการบีบนวด การประคบร้อน หรือทายาที่ร้อนบริเวณที่บาดเจ็บ ในช่วง 48 ชั่วโมงแรก เพราะอาจจะทำให้เกิดการอักเสบ ปวดและบวมมากขึ้นได้
หลังจากที่ทำการปฐมพยาบาลไปแล้ว หากอาการปวดไม่ดีขึ้น หรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันก็สามารถใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้ โดยก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร
ยาที่ใช้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ยาใช้ทาภายนอก ให้พยายามเลือกใช้ก่อนยาแบบรับประทาน เพราะมีปลอดภัยมากกว่า และควรเลือกใช้ชนิดสเปรย์ เพื่อหลีกเลี่ยงการนวดบริเวณที่อักเสบ
- ยาทาภายนอกชนิดร้อนหรือเย็น : การเลือกใช้สูตรเย็นจะเหมาะสมมากกว่าหากใช้หลังจากบาดเจ็บภายใน 48 ชั่วโมง แต่ถ้าหากอาการอักเสบเริ่มลดลงแล้ว สามารถใช้ยาที่มีความร้อนได้
- ยาทาที่มีส่วนผสมของยาลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ : บรรเทาอาการได้ดีกว่ายาทาชนิดร้อนและเย็น
2. ยารับประทาน เกิดผลข้างเคียงได้มากกว่ายาใช้ภายนอก
- ยาแก้ปวดพาราเซตามอล หากใช้เกินขนาดหรือนานเกินกำหนด อาจเกิดพิษต่อตับได้
- ยาลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพเฟน (Ibuprofen) เป็นต้น อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร ใช้บ่อยหรือเป็นประจำอาจ ส่งผลเสียต่อไตและหลอดเลือดหัวใจได้
- ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น ออร์เฟเนดรีน (Orphenadrine), โทลเพอริโซน (Tolperisone) เป็นต้น
มีผลข้างเคียงทำให้มึนงง ง่วงซึม
ถึงอย่างไรก็ตามเราควรป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บก่อนดีกว่า ซึงมีวิธีง่าย ๆ เช่น สวมอุปกรณ์ป้องกันข้อต่อหรือใส่รองเท้าที่เหมาะสมกับกีฬาที่เลือกเล่น หรือมีการทำวอร์มอัพ ยืดกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ ก่อนออกกำลัง
เอกสารอ้างอิง :