กระดูกพรุน รู้ไว้...ป้องกันได้
24 สิงหาคม 2566

ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่คนในวัยนี้มักมีความเสื่อมของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยหนึ่งในโรคที่น่าสนใจสำหรับผู้สูงอายุก็คือ “โรคกระดูกพรุน” ที่อาจทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพได้ ทั้งยังเป็นภัยเงียบที่ต้องให้ความสำคัญ

          โรคกระดูกพรุน คือ โรคที่ร่างกายมีความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดน้อยลงเรื่อย ๆ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะโครงสร้างของกระดูกซึ่งมีผลทำให้กระดูกเสื่อม เนื้อกระดูกบางลงจากปกติ เปราะบาง และมีโอกาสทำให้เกิดความเสี่ยงกระดูกหักได้ง่าย มักพบมากในเพศหญิง ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ซึ่งอายุมากขึ้นโอกาสเป็นโรคนี้ก็มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อกระดูกบางถึงระดับที่ไม่สามารถรับน้ำหนัก หรือแรงกระแทกได้ตามปกติ ก็จะเกิดกระดูกหัก โดยอาจจะเกิดขึ้นในขณะทำกิจวัตรประจำวันหรือเกิดขึ้นเมื่อได้รับอุบัติเหตุหกล้ม แม้ว่าอุบัติเหตุนั้นจะดูเล็กน้อยก็ตาม

 

การป้องกันโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุนสามารถลดความเสี่ยงได้โดยการดูแลสุขภาพและบำรุงกระดูก รวมทั้งควรเริ่มตั้งแต่วัยรุ่น หรือวัยก่อนหมดประจำเดือน ได้แก่

  1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  เช่น การวิ่ง และการเดิน เป็นต้น
  2. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น กุ้งแห้งตัวเล็ก งาดำ นม ปลาฉิ้งฉ้าง ผักคะน้า เต้าหู้เหลือง เป็นต้น แต่ควรหลีกเลี่ยงการกินผักโขม ปวยเล้ง ใบชะพลู หน่อไม้ ผักแพว เนื่องจากผักจำพวกนี้มีปริมาณกรดออกซาลิกสูง ซึ่งจะทำให้แคลเซียมไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้
  3. งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน
  4. ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เช่น ยาลูกกลอน เพราะมักจะมีสารสเตียรอยด์ผสมอยู่ ทำให้กระดูกพรุนได้โดยไม่รู้ตัว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่รักษาโรคกระดูกพรุนได้ หนึ่งในนั้น คือ แคลเซียม แคลเซียมมีหน้าที่สร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน  ร่างกายมักจะดูดซึมแคลเซียมได้ในปริมาณที่ไม่มาก ทำให้อาจได้รับปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งคนปกติควรได้รับปริมาณแคลเซียม 800-1,000 มิลลิกรัม/วัน


ข้อมูลอ้างอิง 

โรคกระดูกพรุนกับการกินแคลเซียม. อย.

กาแฟกับภาวะกระดูกพรุน. อย.

โรคกระดูกพรุนเป็นได้แค่ในผู้สูงอายุ ไม่จริง. อย.

 ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน.รามาแชนแนล พบหมอรามา

 กระดูกพรุนไม่ใช่แค่กรรมพันธุ์แต่ยังเกิดจากพฤติกรรมได้ด้วย.โรงพยาบาลเวชธานี

 โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบของผู้สูงอายุ .รามาแชนแนล พบหมอรามา

กระดูกพรุนเรียนรู้และป้องกันก่อนจะสาย.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์.

โรคกระดูกพรุน.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย.

กระดูกพรุนรู้ให้ไวป้องกันกระดูกหัก. โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

บำรุงกระดูกให้ถูกโภชนาการ.โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
oryor
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
การรักษา
อย.
สาระความรู้
กระดูกพรุน
กระดูกผุ
กระดูก
โรคกระดูกพรุน
แคลเซียม
ผู้สูงอายุ
สังคมผู้สูงอายุ