อาหารและโภชนาการสำหรับคุณแม่ให้นมบุตร
16 พฤษภาคม 2567

คุณแม่หลังคลอดที่อยู่ในระยะให้นมบุตรทุกท่าน อาจจะกังวลกับการรับประทานอาหารอย่างไร เพื่อให้น้ำนม
 มีคุณภาพและมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย เพราะหากรับประทานอาหารไม่เพียงพอ นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่และปริมาณน้ำนมแล้ว ยังส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกน้อย
 ได้อีกด้วย ดังนั้นมาเรียนรู้โภชนาการสำหรับคุณแม่ให้นมบุตรไปพร้อม ๆ กัน เพื่อการเลือกรับประทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมได้ประโยชน์ทั้งคุณแม่และคุณลูก

ในหนึ่งวันแนะนำให้คุณแม่ให้นมบุตรรับประทานอาหารให้ครบ 5 กลุ่ม ได้แก่

1.       กลุ่มข้าว-แป้ง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวเหนียว ขนมปังโฮลวีต ข้าวโพด

2.       กลุ่มผัก เช่น ผักคะน้า แครอท ฟักทอง ผักกาดขาว มะเขือเทศดิบ

3.       กลุ่มผลไม้ เช่น ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า แตงโม มังคุด

4.       กลุ่มเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา ตับ เต้าหู้ไข่ ไข่ต้ม

5.       กลุ่มนม เช่น นมสดรสจืด โยเกิร์ต

นอกจากต้องรับประทานให้เพียงพอแล้ว ควรเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน ตรงต่อความต้องการของร่างกายคุณแม่และลูกน้อย โดยหญิงให้นมบุตรในช่วง 6 เดือนแรก จะมีปริมาณพลังงานอ้างอิงที่ควรได้รับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน และในช่วง 6 -11 เดือน จะเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ยกตัวอย่างเช่น หากเดิมปริมาณพลังงานที่ควรได้รับประมาณวันละ 2,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ช่วง 6 เดือนแรกของการให้นมบุตรควรได้รับพลังงานเพิ่มเป็น 2,500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน และในช่วง 6 เดือนหลังควรได้รับพลังงาน 2,300 กิโลแคลอรี่ต่อวัน นั่นเอง

ส่วนไขมัน น้ำตาล และเกลือ แนะนำให้บริโภคแต่น้อยเท่าที่จำเป็น ไม่รับประทานอาหารหวานจัด มันจัด หรือเค็มจัด และควรเลือกใช้เกลือบริโภคหรือผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่เสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพแทนการใช้เกลือทะเล เนื่องจากหญิงให้นมบุตรจะมีความต้องการปริมาณไอโอดีนเพิ่มขึ้นประมาณ 250 ไมโครกรัมต่อวัน และหากทารกขาดไอโอดีนจะส่งผลให้สมองเจริญเติบโตไม่เต็มที่ การอ่านฉลากโภชนาการเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดและควบคุมปริมาณน้ำตาล ไขมัน
 และโซเดียม เนื่องจากฉลากโภชนาการจะแสดงข้อมูลชนิดและปริมาณของสารอาหาร ทำให้เราสามารถเลือกรับประทานให้เหมาะสมและหลีกเลี่ยงสารอาหารที่ควรจำกัดการบริโภคได้  หรือสามารถสังเกตสัญลักษณ์โภชนาการ ทางเลือกสุขภาพซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่ามีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมที่เหมาะสม

นอกจากนี้หญิงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากกาเฟอีนสามารถผ่านน้ำนมและส่งผลต่อการนอนหลับและการทำงานของหัวใจของทารกได้ และอย่าลืมดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน ทั้งนี้เพื่อให้มีปริมาณน้ำนมเพียงพอมีคุณภาพและสารอาหารที่ครบถ้วนสำหรับลูกน้อย


ข้อมูลอ้างอิง

ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำาวัน สำาหรับคนไทย พ.ศ. 2563

สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2563). โภชนาการสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร. หน้า 16.

Kominiarek, M. A., & Rajan, P. (2016). Nutrition Recommendations in Pregnancy and Lactation. The Medical clinics of North America, 100(6), 1199–1215. (Table2 Recommended daily dietary allowances for pregnant and lactating women)



คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
oryor
การเลือกซื้อ
ฉลากหวานมันเค็ม
ฉลาก
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ผลิตภัณฑ์อาหาร
อย.
สาระความรู้
อาหาร
ข้อมูลทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการ
ภาวะโภชนาการ
แม่ให้นมบุตร
อาหารสำหรับคุณแม่ให้นมบุตร